นายสเปญ จริงเข้าใจ กรรมการและผู้จัดการ บมจ.จี แคปปิตอล (GCAP) กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 64 เป้าสินเชื่อใหม่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแต่บริษัทจะกลับมาเน้นโปรดักส์ที่ผลตอบแทนสูงเพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัท โดยวางเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 1,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มลูกค้าเกษตรกรยังเป็นลูกค้าหลัก โดยเฉพาะรถเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นกลุ่ม high yield และมีนโยบายควบคุมตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ไม่เกิน 5%
นอกจากนี้บริษัทจะโฟกัสธุรกิจร่วมทุนกับกลุ่มนิ่มซี่เส็ง โดยจะดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อลูกค้ากลุ่มการขนส่ง (Logistic) เป็นหลัก คาดว่าจะสามารถเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งนับเป็นการขยายธุรกิจและขยายฐานลูกค้าให้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านการขนส่งมีแนวโน้มเติบโตและได้รับผลบวกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยจุดแข็งของจีแคปฯ คือความชำนาญในกลุ่มเกษตรกรรม อยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 17 ปี มีฐานลูกค้าที่รู้จักบริษัทฯ เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน นิ่มซี่เส็งฯ เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้า มีความชำนาญอย่างมากในธุรกิจขนส่ง การจับมือกันในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสที่จะสามารถขยายพอร์ตให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้
"ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ ได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะเน้นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนสูงมากกว่าการขยายพอร์ตสินเชื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ"นายสเปญ กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพธุรกิจการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ จึงต้องพิจารณาในงบการเงินเฉพาะกิจการ เนื่องจากในงบการเงินรวม มีการบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมค้าที่ยังไม่ดำเนินธุรกิจใดๆ เข้ามาแสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในงบรวมเพิ่มเติม โดยผลประกอบการของบริษัทฯ ในงบการเงินเฉพาะกิจการงวดประจำปี 63 บริษัทมีรายได้รวม 330.11 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 จำนวน 28.52 ล้านบาท หรือ 7.95% ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 23.13 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.82% ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 16.86 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 จำนวน 39.35 ล้านบาท หรือ 70% เนื่องจากปล่อยสินเชื่อลดลงในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับในไตรมาส 4/63 ในงบการเงินเฉพาะกิจการมีรายได้รวม 76.28 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า 18.84% เนื่องจากการลดลงของรายได้จากสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของสินเชื่อรวมลดลง รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ทำให้มีกำไรสุทธิจำนวน 7.42 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปี 62 ราว 50.23%
ขณะที่ในงบการเงินรวมที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย ณ สิ้นปี 63 มีกำไรสุทธิ 3.90 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้า 12.18 ล้านบาท ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จและสำหรับไตรมาส 4/63 จำนวน 1.56 ล้านบาท
"ช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทำให้ส่งผลกระทบต่อยอดการจัดเก็บค่างวดบางส่วน นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างการทำงาน ในส่วนของการบริหารจัดเก็บหนี้ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการการทำงาน โดยบริษัทได้มีการทดลองและประเมินผล พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการบริหารจัดเก็บหนี้ โดยนำ AI และ DATA มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า จึงมั่นใจว่าปี 64 จะเป็นปีที่บริษัทฯ สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรง และเติบโตขึ้นจากปี 63" นายสเปญ กล่าว