สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ระบุว่า บมจ.น้ำประปาไทย ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 1 พันล้านหุ้น ประกอบด้วย หุ้นเพิ่มทุนใหม่ 700 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 17.64% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ และ อีกส่วนหนึ่งเป็นหุ้นที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม 5 ราย รวมกันไม่เกิน 300 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 7.52% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วภายหลังการเสนอขายครั้งนี้
ผู้ถือหุ้นเดิมที่จะเสนอขายหุ้น คือ บมจ.ช.การช่าง(CK), บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้งส์(ประเทศไทย)จำกัด, บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ, ธนาคารกรุงเทพ(BBL) และ ธนาคารทหารไทย (TMB) โดยบริษัทจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ มีบล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
บมจ.น้ำประปาไทย(TTW)ประกอบกิจการในการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาด้วยกำลังผลิต 320,000 ลบ.ม./วัน โดยทำสัญญาขายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)ในพื้นที่ อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน อำเภอพุทธมณฑล ในจังหวัดนครปฐม, อำเภอเมืองสมุทรสาคร และอำเภอกระทุ่มแบน ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทดแทนการใช้น้ำบาดาลของภาคเอกชน การผลิตน้ำประปาจากบ่อบาดาลของกปภ.และเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นการช่วยแก้ปัญหาแผ่นดินทรุดและน้ำเค็มแทรกในชั้นบาดาลตามนโยบายของรัฐบาล
บริษัทฯมีบริษัทย่อย คือ บริษัท วอเตอร์โฟลว์ ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายปฏิบัติการผลิตและจ่ายน้ำประปาเพื่อจำหน่ายให้แก่กปภ. ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 100%, บริษัท บีเจที ทำหน้าที่ในการผลิตและจ่ายน้ำประปาเพื่อจำหน่ายให้แก่ กปภ. ซึ่งบริษัทฯได้ถือหุ้น 100% และบริษัท ประปาปทุมธานี ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ.เช่นเดียวกับบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 89.15%
ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นประปาปทุมธานี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2550 จากผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทฯได้เข้าทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ 2 แห่งเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 3,000 ล้านบาท กำหนดชำระคืนเงินต้นภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เบิกเงินกู้ หรือวันที่บริษัทฯนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน และเงินกู้ระยะยาวอีก 1,000 ล้านบาท กำหนดชำระคืนเงินต้นเป็นงวด ๆ ตามรายไตรมาสรวม 20 งวด และต้องชำระเงินต้นทั้งหมดภายในเดือนกรกฏาคม 2556
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัททั้งสองราย ได้แก่ ช.การช่าง และมิตซุย ได้ทำสัญญา Undertaking Agreement กับธนาคารพาณิชย์ผู้ให้กู้สำหรับการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 3,000 ล้านบาท ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใน 1 ปีนับจากวันที่เบิกเงินกู้ หรือกรณีเงินที่ได้รับจากการขายหุ้น IPO ไม่เพียงพอที่จะชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นได้
ผลการดำเนินงานของบริษัท และบริษัทย่อย งวด 6 เดือนแรกของปี 2550 บริษัทมีรายได้จากขายน้ำประปา 1,565.3 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้น 1,061.7 ล้านบาท กำไรสุทธิ 550.4 ล้านบาท
ณ วันที่ 14 กันยายน 2550 บริษัทฯมีทุนจดทะเบียนจำนวน 3,990 ล้านบาท และทุนชำระแล้วจำนวน 3,250 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,250 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย บมจ.ช.การช่าง ถือหุ้น 1,549,839,400 หุ้นหรือคิดเป็น 47.69% หลังขาย IPO จะถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 35.26% บริษัท มิตซุย วอเตอร์โฮลดิ้ง (ประเทศไทย)ถือหุ้น 1,137,500,000 หุ้นหรือคิดเป็น 35% หลังขาย IPO จะถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 25.88%
บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ ถือหุ้น 406,250,000 หุ้นหรือคิดเป็น 12.50% หลังขาย IPO จะถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 9.24% ธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้น 81,410,000 หุ้นหรือคิดเป็น 2.50% หลังขาย IPO จะถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 1.85% และธนาคารทหารไทย ถือหุ้น 75,000,000 หุ้นหรือคิดเป็น 2.31% หลังขาย IPO จะถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 1.71%
บริษัทฯกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิที่เหลือหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และทุนสำรองต่าง ๆ ตามกฎหมาย และตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาต่าง ๆ ของบริษัทฯแล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--