CPALL กางแผนปี 64 ตั้งงบ 1.2 หมื่นลบ.เปิดเพิ่ม 700 สาขา,พร้อมลุยลาว-กัมพูชา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 4, 2021 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจิราพรรณ ทองตัน หัวหน้าสำนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ซี พี ออลล์ (CPALL) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปี 64 ว่า บริษัทตั้งงบลงทุนใกล้เคียงปีก่อนที่ 12,000 ล้านบาท โดยมีแผนขยายสาขาใหม่ 700 สาขารองรับลูกค้าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเตรียมความพร้อมเปิดสาขาในลาวและกัมพูชาทันทีที่มีนโยบายเปิดประเทศ ขณะที่บริษัทมีกระแสเงินสด ณ สิ้นปี 63 ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท

โครงการลงทุนในปีนี้ แบ่งเป็น งบขยายสาขาใหม่ (Store Expansion) 4,000 ล้านบาท งบปรับปรุงร้าน 2,500 ล้านบาทเพื่อให้ร้านสะดวกซื้อมีความทันสมัยและมีพื้นที่เพียงพอในการนำเสนอสินค้าเพิ่ม ขณะที่ตั้งงบสำหรับการลงทุนโครงการใหม่ 4,100 ล้านบาท เพื่อบริการลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น All Online, 7 Delivery, O2O , เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่จะติดตั้งเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงบลงทุนด้านไอทีและสินทรัพย์คงที่ต่าง ๆ อีก 1,400 ล้านบาท

นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน CPALL กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมสำหรับการขยายสาขาในลาวและกัมพูชาหลังจากศึกษาและวางแผนงานเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การขยายสาขาดังกล่าวต้องหยุดชะงักไป หากมีการเปิดประเทศก็จะเดินหน้าแผนงานทันที โดยทางบริษัทยังคงเชื่อมั่นในความน่าสนใจของตลาดในลาวและกัมพูชาที่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนเหมือนในประเทศไทย

สำหรับการเข้าร่วมกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซื้อกิจการเทสโก้โลตัสในไทยและมาเลเซีย ปัจจุบันได้มีการรีแบรนด์เป็น Lotus's แล้ว ช่วยเติมเต็ม Portfolio ของ CPALL ที่เป็นธุรกิจค้าปลีกของคนไทยมีการลงทุนหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ครบถ้วน และจะก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการในระดับภูมิภาค จากที่ทั้งดำเนินการกิจการร้านสะดวกซื้อ 7-11, เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจค้าส่งแบบสมาชิก คือ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ซึ่งมีการขยายธุรกิจไปในอินเดีย จีน เมียนมา และกัมพูชา

นายเกรียงชัย กล่าวว่า ด้านภาระหนี้ที่เกิดการจากการเข้าร่วมทุนซื้อกิจการเทสโก้โลตัสนั้น บริษัทมั่นใจว่ายังสามารถบริการจัดการได้ ทั้งด้วยแหล่งเงินทุนที่เป็นเงินกู้ จากการออกหุ้นกู้และวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งมีเพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อนำมาลดต้นทุนทางการเงินดังกล่าว

อนึ่ง CPALL เตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นขยายวงเงินออกหุ้นกู้อีกไม่เกิน 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและการ Refinancing ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืม ไถ่ถอนตั๋วแลกเงินระยะสั้น และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เมื่อรวมวงเงินที่ได้รับอนุมัติเดิมไม่เกิน 90,000 ล้านบาท และไม่เกิน 15,000 ล้านบาทแล้ววงเงินรวมทั้งสิ้นสำหรับการออกหุ้นกู้จะอยู่ที่ไม่เกิน 295,000 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการในปี 63 บริษัทมีกำไรสุทธิ 16,102 ล้านบาท ลดลง 27.9% จากปี 62 และมีรายได้ 546,590 ล้านบาท ลดลง 4.3% เป็นผลมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการ Work from Home การเรียนออนไลน์ ส่งผลให้ลูกค้าเข้าใช้บริการที่ร้านสะดวกซื้อลดลงมาก แต่ทางบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ไปให้บริการ 7 Delivery เพื่อส่งสินค้าถึงที่มือลูกค้าให้ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ร้านสะดวกซื้อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ธุรกิจค้าส่งของ MAKRO มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สัดส่วนรายได้เพิ่มมาเป็น 37% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 34% ส่วนรายได้ของธุรกิจร้านสะดวกลดลงมาที่ 63% จาก 66% และกำไรปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับรายได้

ทั้งนี้ ในปี 63 บริษัทได้ขยายสาขาร้าน 7-11 ไปแล้ว 720 สาขา มียอดขายเฉลี่ย/วัน/สาขาที่ 70,851 บาท ซึ่งประมาณ 71.2% ของสินค้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อยังเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร และอีก 28.8% เป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน ของใช้ส่วนตัว บุหรี่และสินค้าประเภทอื่นๆ ขณะที่สาขาทั้งหมด ณ สิ้นปีอยู่ที่ 12,432 สาขา โดย 56% อยู่ในต่างจังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ