นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์เพื่อต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ พร้อมทั้งปลดล็อกข้อจำกัดของการเป็นเพียงบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) ที่จะต้องดำเนินงานภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขของการควบคุมธุรกิจ AMC ทำให้การต่อยอดธุรกิจของ BAM ทำได้ค่อนข้างจำกัด
ทั้งนี้ การจัดตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์นั้นจะทำให้การดำเนินงานของ BAM ในการต่อยอดและแตกไลน์ธุรกิจของบริษัทลูกในเครือที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจแต่ละด้านที่แตกต่างกันสามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น และสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเสริมให้ BAM สามารถเติบโตได้มากขึ้นมากกว่าปัจจุบันที่ทำธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีการแข่งขันในตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสให้กับบริษัทในเครือของ BAM สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยลดการพึ่งพาเงินทุนจาก BAM ลง และบริษัทในเครือสามารถบริหารงานต่างๆ อย่างเต็มที่
แผนการจัดตั้งโฮลดิ้งส์ของ BAM ยังอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาราว 8 เดือนหรือในช่วงปลายปี 64 จะมีความชัดเจน และหลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้าเสนอคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) พิจารณา ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการพิจารณาเพื่อขออนุมัติต่อไป
"การเป็น Holding company สามารถมำให้เราขยายการเติบโตได้มากขึ้น เพราะวันนี้เราเป็น AMC การจะทำอะไรเพิ่มก็ติดกฎเกณฑ์อยู่บ้าง และจริงๆ เรายังมีบริษัทในเครือที่มีความสามารถหลากหลายด้าน ถ้า BAM เป็น Holding แล้ว Spin-off บริษัทลูกออกมา ก็จะทำให้ BAM มีศักยภาพขยานเติบโตมากขึ้น
อย่างธุรกิจที่เรามีความสามารถและเราสนไจอยากทำ เช่น ธุรกิจบริหารและติดตามหนี้ เหมือนบริษัทอื่นที่อยู่ในตลาด เราก็มองเห็นโอกาสและความสามารถของเราที่ทำได้ แต่อาจจะติดเงื่อนไขของ AMC และธุรกิจเกี่ยวกับการรับจ้างออกแบบ ซึ่งทีมงานของเราก็มีควทมสามารถในการรีโนเวททรัพย์ต่างๆอยู่แล้ว ถ้าเราเป็น Holding ก็สามารถต่อยอดธุรกิจไปได้มากขึ้น"นายบัณฑิต กล่าว
สำหรับเป้ารายได้ในปี 64 ตั้งเป้าไว้ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อนมีรายได้ 1.24 หมื่นล้านบาท และตั้งงบลงทุนซื้อสินทรัพย์ NPL และ NPA เข้ามาบริหารจัดการไม่ต่ำกว่า 9 พันล้านบาท โดยการประมูลซื้อจากสถาบันการเงินต่างๆ และการขายทอดตลาดที่กรมบังคับคดี แต่จะเน้นการคัดเลือกทรัพย์ในแต่ละกลุ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแล 85,102 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 4.84 แสนล้านบาท และ NPA จำนวน 21,574 รายการ คิดเป็นราคาประเมินมูลค่า 6.25 หมื่นล้านบาท
นายบัณฑิต กล่าวว่าการบริหาร NPL ใช้กลยุทธ์ลดระยะเวลาในการจัดการ โดยมุ่งเน้นการสร้างผลเรียกเก็บระยะสั้นโดยเร่งติดตามเงินรอรับจากกรมบังคับคดี พร้อมคัดพอร์ตลูกหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันออกประมูลขายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเร่งพัฒนาระบบ E-TDR เบื้องต้นลูกหนี้สามารถชำระผ่าน Application ได้ รวมทั้งเพิ่มฐานลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ผ่อนชำระไม่น้อยกว่า 3,500 ราย โดยสร้างโอกาสในการประนอมหนี้ผ่านโครงการสุขใจได้บ้านคืนโครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้ และโครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ
ด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA นั้น BAM ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการจำหน่ายทรัพย์ให้เร็ว เพื่อลดระยะเวลาการถือครอง รวมทั้งคัดทรัพย์มาทำรายการพิเศษกว่า 3,000 รายการ พร้อมคัดทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และทรัพย์เพื่อนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อซ้ำ รวมทั้งทรัพย์สำหรับกลุ่ม SME และ Start Up นำเสนอขายพร้อม Solution พร้อมเพิ่มฐานลูกค้าที่ซื้อแบบผ่อนชำระกับ BAM ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ภายในปี 64
แผนการตลาดในปี 64 จะเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตาม Target Segment และจัดโปรโมชั่น แคมเปญอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เช่น โปรโมชั่นโอนเร็ว รับเลย ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และบัตรกำนัล หากลูกค้าโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 30 วัน รวมทั้งเตรียมจัดประมูลทรัพย์แบบออนไลน์ และในช่วงที่ประชาชนใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สื่อต่างๆ ในรูปแบบ Digital Platformได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก เนื่องจาก การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเช่น การออกบูธ หรือการจัดงานต่างๆ มีข้อจำกัด BAM จึงเร่งพัฒนาปรับปรุง Website และสื่อ Social Media ต่างๆเพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการติดต่อสื่อสารและใช้บริการ
นอกจากนี้บริษัทมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT สู่การเป็น BAM Digital Enterprise เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานให้เร็วขึ้น (Re-Process) และยังมีนโนโยบายในการพัฒนาบุคลากรด้วยการ Reskill หรือ Upskill เพื่อเสริมสร้างทักษะใหม่ๆรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค Digital
ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ในระยะ 5 ปี (ปี 64-68) สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 ตั้งเป้ารายได้ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท ล้านบาท ปี 65 ตั้งเป้า 1.89 หมื่นล้านบาท ปี 66 ตั้งเป้า 2.05 หมื่นล้านบาท ปี 67 ตั้งเป้า 2.21 หมื่นล้านบาท และปี 68 ตั้งเป้า 2.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ