นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการเงินและบัญชี บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปหลังปี 64 เป็นต้นไป ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวราว 2-3 ปี กว่าภาพรวมของผลการดำเนินงานจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงชัดเจนมากขึ้น คนเริ่มมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 มากขึ้น และภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวดี
ทั้งนี้ ผลงานในปี 64 ยังมีแรงกดดันมาจากผลกระทบโควิด-19 ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ซึ่งกดดันทั้งภาพรวมของธุรกิจการบิน หลังจากยังไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาได้ และในช่วงต้นปียังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศระลอกสอง ส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวในประเทศชะลอตัวไปด้วย ทำให้การดำเนินธุรกิจในปีนี้ยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก
แนวโน้มรายได้จากผู้โดยสารในปี 64 ของ BA คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 3.39 พันล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหายไปทั้งไตรมาสแรก และไม่มีรายได้จากลูกค้าต่างชาติเข้ามาเสริม อีกทั้งบริษัทได้ลดจำนวนเที่ยวบินในประเทศลงเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายบางส่วน ทำให้รายได้จากผู้โดยสารชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบิน (Load Factor) ในปี 64 ที่คาดว่าจะลดลงมาที่ 61% จากปีก่อน 63%
แม้ว่าในต่างประเทศในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วก็ตาม แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรกว่าที่คนส่วนใหญ่ในโลกจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น อีกทั้งการกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งหรือไม่คงต้องรอให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ เพราะการที่เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อรายได้ของคน ทำให้การตัดสินใจกลับมาเดินทาท่องเที่ยวคงใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าโซนยุโรปที่เป็นลูกค้าหลักของ BA ที่มีสัดส่วน 27% ได้รับผลกระทบด้านรายได้ที่ลดลงไปมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของผลงานของบริษัทด้วยเช่นกัน
ขณะที่บริษัทยังคงควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้บริษัทยังมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น การลดจำนวนเที่ยวบินลง ซึ่งในปีนี้บริษัทวางแผนลดจำนวนที่บินลงเหลือ 23,228 เที่ยวบิน จากปีก่อนที่มีจำนวน 24,901 เที่ยวบิน และส่งมอบคืนเครื่องบินให้กับผู้ให้เช่าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปี 64 บริษัทจะคืนเครื่องบินให้กับผู้ให้เช่า 1 ลำ ทำให้ฝูงบินลดลงเหลือ 36 ลำ และยังเดินหน้าขายเครื่องบิน ATR-2-500 ออกไปอีก 2 ลำ และในปี 65 จะยังมีการคืนเครื่องบินให้กับผู้ให้เช่าอีก 6 ลำ ทำให้ฝูงบินลดเหลือ 30 ลำ อีกทั้งยังคงมีการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆในการขยายระยะเวลาการชำระหนี้และลดค่าใช้จ่ายอื่นๆต่อเนื่อง
ส่วนแผนการลงทุนในปัจจุบันของบริษัทมีเพียงการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายใต้บริษัทร่วมทุน คือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ร่วมกับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) โดยความคืบหน้าในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ในขั้นสุดท้าย และในส่วนของการออกแบบนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้ายกับผู้ออกแบบโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องรูปแบบของโครงการดังกล่าวออกมาในช่วงปลายเดือนมี.ค.-ต้นเดือนเม.ย.นี้
ด้านการลงทุนอื่นๆนั้นบริษัทหยุดและชะลอแผนที่เคยพิจารณาไว้ออกไปก่อน และหันมามุ่งเน้นการลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นหลักแทน