STGT วางงบลงทุน 4.4 หมื่นลบ.รองรับแผนขยายกำลังผลิต 1.02 แสนล้านชิ้นภายในปี 69

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 8, 2021 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางงบลงทุนในช่วง 6 ปี (ปี 64-69) ไว้ที่ 44,000 ล้านบาท รองรับการเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางเป็น 102,000 ล้านชิ้น/ปี ภายในปี 69 จากปัจจุบันอยู่ที่ 32,000 ล้านชิ้น/ปี โดยจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 50,000 ล้านชิ้น/ปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า และ 82,000 ล้านชิ้น/ปีในปี 67 จนไปแตะระดับ 1 แสนล้านชิ้น/ปีตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 24%

ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะมาจากโรงงานสาขาสุราษฎร์ธานี (SR2) กำลังการผลิต 2,177 ล้านชิ้น/ปี คาดเริ่มผลิตในไตรมาส 1/64, โรงงานแห่งใหม่ใน จ.สุราษฎร์ธานี (SR3) กำลังการผลิต 3,992 ล้านชิ้น/ปี เริ่มผลิตภายในไตรมาส 2/64, โรงงานแห่งใหม่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กำลังการผลิต 17,041 ล้านชิ้น/ปี เริ่มผลิตไตรมาส 3/64, โรงงานแห่งใหม่ที่ อำเภอสะเดา จ.สงขลา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี โดยกำลังการผลิตของถุงมือยาง PS สงขลาจะอยู่ที่ 2,903 ล้านชิ้น/ปี เริ่มผลิตไตรมาส 3/64 และ โรงงานถุงมือยาง ANV สงขลาอีก 7,258 ล้านชิ้น/ปี เริ่มผลิตไตรมาส 1/65

ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างดำเนินการขอสิทธิประโยชน์จาก BOI เพื่อจัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ใน จ.ชุมพร กำลังการผลิต 13,064 ล้านชิ้น/ปี คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 1/65 ส่วน จ.ตรัง บริษัทได้ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายโรงงานอีก 2 โรงงาน หรือ TG4 กำลังการผลิต 7,465 ล้านชิ้น/ปี คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 3/65 และ TG5 กำลังการผลิต 6,169 ล้านชิ้น/ปี คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 1/66 จากปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการพัฒนา TG3 กำลังการผลิต 3,110 ล้านชิ้น/ปี คาดเริ่มผลิตในไตรมาส 4/64

นางสาวจริญญา กล่าวว่า การเพิ่มกำลังการผลิตดังกล่าว เป็นการรองรับกับความต้องการใช้ถุงมือยางที่ยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากปัจจุบันความต้องการใช้ถุงมือยางของทั้งโลกยังอยู่ในระดับสูงถึง 5.85 แสนล้านชิ้น ขณะที่ซัพพลายปัจจุบันมีอยู่ 3.70 แสนล้านชิ้น ยังขาดแคลนถึง 37%

ขณะที่ความคืบหน้าของโรงงานผลิตถุงมือยาง สาขาสุราษฎร์ธานี 2 ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น ปัจจุบันทางบริษัทประกันได้เข้ามาประเมินความเสียหายแล้ว คาดว่าจะได้รับวงเงินชดเชย 50-100 ล้านบาทในเดือนมิ.ย.นี้ และน่าจะกลับมาดำเนินการผลิตถุงมือยางได้ในเดือน พ.ค.64 โดยยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำลังการผลิตในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 36,000 ล้านชิ้น เนื่องด้วยกำลังการผลิตของโรงงานดังกล่าวอยู่ที่ 200 ล้านชิ้น/ปี หรือคิดเป็น 0.6% ของกำลังการผลิตในปีนี้เท่านั้น

นางสาวจริญญา กล่าวว่า ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 คาดว่าจะเติบโตกว่าไตรมาส 4/63 แม้จะได้รับผลกระทบจากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน แต่ยังได้ปัจจัยบวกจากราคาขายเฉลี่ย (ASP) ที่ปรับตัวขึ้น 20%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ