นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า รฟม.เตรียมกำหนดเริ่มกระบวนการเปิดประมูลโครงการรอบใหม่ภายในเดือน เม.ย.นี้ หลังจากสำนักงานอัยการส่งคำสั่งศาลปกครองกลางให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้องขอให้เพิกถอนการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน หลังจากรฟม.ได้ยกเลิกการประมูลครั้งก่อนไปแล้ว
ปัจจุบัน รฟม.ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 1 มี.ค.64 โดยเปิดให้แสดงความคิดเห็น 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-16 มี.ค. และให้เอกชนยื่นเอกสารแสดงความคิดเห็นในวันที่ 19-20 มี.ค.
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม.ยังคงยืนยันที่จะพิจารณาทั้งจากด้านเทคนิค 30% ควบคู่กับผลตอบแทนการลงทุนอีก 70% เนื่องจากสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการมีอาคารอนุรักษ์อยู่เป็นจำนวนมาก ต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามเอกชนสามารถเสนอความคิดเห็นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเสนอราคาอย่างเดียวหรือจะใช้สัดส่วนด้านเทคนิคและราคาเป็นเท่าไหร่
รฟม.จะรวบรวมความเห็นทั้งหมดเพื่อนำมาปรับปรุงร่างประกาศเชิญชวน ร่าง RFP และสาระร่างสัญญา ตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการเป็นสำคัญเท่านั้น จากนั้นคาดว่าคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 จะพิจารณาและให้ความเห็นชอบ
นายภคพงศ์ คาดว่า รฟม.จะประกาศขายเอกสารเชิญชวนได้ในเดือน เม.ย.64 และให้เวลา 60 วันเพื่อให้เอกชนจัดเตรียมข้อเสนอก่อนยื่นมาให้พิจารณาภายในเดือน มิ.ย.64 และในเดือน ก.ค.64 จะทำการประเมินข้อเสนอและคาดว่าจะประกาศผลการคัดเลือกได้ จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ส.ค.64 อย่างไรก็ตาม หากมีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวก็ให้เจรจากับรายนั้น
ส่วนกรณีที่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้มีคำสั่งให้ รฟม.ให้หยุดการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นเป็นกรณีพิพาทนี้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษานั้น ขณะนี้ชัดเจนแล้วเพราะศาลปกครองสั่งจำหน่ายคดีแล้ว โดยการยกเลิกการประมูลและเปิดประมูลใหม่จะช่วยให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทำได้เร็วกว่าการรอคำสั่งศาลที่คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ซึ่งตามขั้นตอนศาลแล้วจะต้องมีการอุทธรณ์ของคู่กรณี แต่การเปิดประมูลใหม่เบื้องต้นล่าช้ากว่ากำหนดราว 1 เดือนเท่านั้น
อนึ่ง โครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตกระยะทาง 35.9 กิโลเมตรแบ่งเป็นส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตรจำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) โดยกำหนดเปิดให้บริการฝั่งตะวันตกในปี67 และฝั่งตะวันออกในปี 69