นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการทำแผนกลยุทธ์การดำเนินงานปี 64 ใหม่ ซึ่งจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่กว่าที่เคยประกาศกลยุทธ์การดำเนินงานแบบ SCB Transformation ก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าภายในไม่เกินเดือน เม.ย.นี้จะมีความชัดเจนของแผนกลยุทธ์ใหม่ของธนาคารออกมาอย่างเป็นทางการ หลังจากธนาคารนำแผนกลยุทธ์ดังกล่าวเข้าเสนอให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาภายในเดือนมี.ค.นี้ "การปรับกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่ที่จะออกมาครั้งนี้จะยิ่งใหญ่กว่าคราวที่แล้ว แต่ละธุรกิจของธนาคารต้องมีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆเข้ามา ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการทำแผนและจะเสนอบอร์ดต่อไป ก็คงไม่เกินเมษาฯ นี้จะแถลงข่าวอีกครั้ง ปีที่แล้วถือเป็นปีที่ทุกคนไม่คาดคิดว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้น สำหรับธนาคารเองก็ถือเป็นปีที่เราสร้าง Buffer ไปมากในปีก่อน ส่วนปีนี้ก็พร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ โดยที่จะนำเทคโนโลยีมาไช้เสริมศักยภาพ"นายอาทิตย์ กล่าว
ในปีนี้ธนาคารวางแผนลดต้นทุนในการดำเนินงานปี 64 ลงอีกราว 10% จากปีก่อนที่ได้ลดต้นทุนการดำเนินงานลงไปแล้ว 10% มาอยู่ 6.3 หมื่นล้านบาท จากปี 62 อยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านบาท โดยที่ธนาคารยังคงเดินหน้านำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการช่วยและเสริมศักยภาพของการดำเนินงานภายในให้มากขึ้น
ขณะที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ยังช่วยให้ธนาคารสามารถเพิ่มช่องทางและเพิ่มโอกาสในการหารายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริมได้มากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจเครือ SCB ในปี 64 เป็นต้นไปจะปรับรูปแบบมามุ่งสร้างธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เนื่องจากธนาคารมองว่าการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมนั้นยังไม่สามารถต่อยอดการเติบโตของรายได้ได้ และปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ธนาคารจะต้องมองหาการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจในเครือที่มีอยู่ที่เป็นรูปแบบใหม่เข้ามาเสริมในการต่อยอดการเติบโตให้กับแต่ละธุรกิจ และต่อยอดการเติบโตของธนาคารในภาพรวม
สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่น Robinhood ในปี 64 ธนาคารจะพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มที่มากกว่าบริการเดลิเวอร์รี่อาหารในปัจจุบัน ซึ่งจะมีการประกาศแนวทางดังกล่าวอีกครั้ง โดยปัจจุบัน Robinhood ได้รับการตอบรับที่ดีจากร้านค้าและลูกค้า ซึ่งธนาคารได้รับการติดต่อจากผู้ที่สนใจขอซื้อแอปพลิเคชั่น Robinhood แต่ไม่มีแผนที่จะขายออกไป เพราะต้องการนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดียิ่งขึ้นเพื่อช่วยในการต่อยอดธุรกิจของธนาคาร นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี SCB กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เป็นสินเชื่อใหม่ 4 หมื่นล้านบาทในปีนี้ พร้อมกันนั้นธนาคารยังคงเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงและฟื้นฟูธุรกิจ เนื่องจากลูกค้าเอสเอ็มอีบางรายยังมีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และธนาคารได้มีการจัดการฝึกอบรมให้ความรู้ และแนะนำแนวทางแก่ลูกค้า เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ลูกค้ายังสามารถผ่านพ้นผลกระทบจากโคว์ด-19 ไปได้
ปัจจุบัน SCB มีพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท
ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมมาตรการการพักชำระหนี้นั้น ส่วนใหญ่เริ่มกลับมาชำระหนี้ตามปกติได้มากขึ้น จากมูลหนี้ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้กว่า 1.6 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลือลูกค้าที่ยังอยู่ในมาตรการต่อเนื่องราว 6 หมื่นล้านบาท สะท้อนแนวโน้มว่าลูกค้าเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น แม้ว่ายังมีผลกระทบจากโควิด-19 อยู่บ้าง ซึ่งธนาคารยังคงอยู่เคียงข้างและช่วยเหลือลูกค้าทุกรายให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤติไปได้ และจะพยายามควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีให้อยู่ในระดับ 12% ใกล้เคียงกับปีก่อน