นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) แถลงถึงความคืบหน้าการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า ทีมกฎหมายบริษัทกำลังพิจารณายื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 กรณีประกาศยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และกรณีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ ซึ่งทั้ง 2 กรณี จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางภายใน 90 วัน
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วันในประเด็นที่ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีที่บริษัทฟ้องรฟม. และคณะกรรมการ มาตรา 36 เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้มหลังจากที่รฟม.ถอนอุทธรณ์
ขณะที่คดีที่ศาลปกครองที่บริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 5 แสนบาทกับรฟม. ยังคงดำเนินการอยู่
นอกจากนี้ ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจะพิจารณาว่ารับฟ้องคดีที่บริษัทยื่นฟ้อง ผู้ว่าการรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญา ฐานความผิดปฎิบัติหรือละเว้นปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ หากรับก็นัดไต่สวนต่อไป
ส่วนการที่ รฟม.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และจะเปิดขายซองประมูลในเดือนเม.ย.64 นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทขอรอดูรายละเอียดของเอกสารประมูล (TOR) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก่อน ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่
ทั้งนี้ เห็นว่าโครงการ PPP ไม่มีความจำเป็นใช้เกณฑ์เทคนิคกับราคา เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ดุลยพินิจ และบริษัทนั้นๆ ก็ผ่านการประเมินด้านเทคนิคแล้วการใช้ราคาตัดสินชัดเจน และรัฐได้ประโยชน์สูงสุด แต่หากใช้เกณฑ์ เทคนิคและราคา อาจจะทำให้รัฐต้องจ่ายในราคาสูงขึ้น
โดยในไทยมีบริษัทรับเหมา ที่มีประสบการณ์อุโมงค์ใต้แม่น้ำอยู่ 2 รายคือ บมจ.ช.การข่าง (CK) และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ (ITD) ขณะที่บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ที่เป็นพันธมิตรของ BTS กลับไม่มีประสบการณ์ หากใช้ดุลยพินิจก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรม
พร้อม ระบุการออกมาฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่เกี่ยวข้องกับการได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
"BTSไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ เราพยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมายที่มี แต่จนถึงขณะนี้เราพบว่า มีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ BTS เกิดความเสียหาย ดังนั้นในวันนี้เราจึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมดสิ่งที่ดำเนินการมาและสิ่วที่ดำเนินการต่อไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจใน สิ่งที่ถูกต้อง" นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้านพ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า BTS มีสิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองประเด็นที่รฟม.ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยไม่มีอำนาจรองรับ และชี้ให้เห็นว่า รฟม.ดำเนินการไม่ถูกต้องตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอ จนกระทั่งยกเลิกการประมูล และเริ่มการประมูลรอบใหม่ ทั้งที่ตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ไม่มีอำนาจหรือข้อกฎหมายใดรองรับการดำเนินการดังกล่าว ยกเว้นไม่มีรายใดมายื่นประมูล หรือยื่นแล้วแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ถึงจะเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประมูล ทั้งนี้ รฟม.เป็นเพียงหน่วยงานรัฐที่ดำเนินโครงการ เจ้าของโครงการจริงคือรัฐบาล (บริหารภายใต้คณะรัฐมนตรี)
"คำสั่งยกเลิกการประมูล รฟม.ทำได้ยังไง ในเมื่อ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ไม่มีบอก ไม่ได้เขียนไว้ เพราะเจตนาไม่ให้กลับไปกลับมา เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ จะเกิดความเสียหาย เป็นกฎหมาย One Way อีกทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้ายังดันทุรังทำอย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าปีนี้ก็ไม่เสร็จสิ้นกระบวนการประมูล" ที่ปรึกษาประธานกรรมการ BTS ระบุ
นอกจากนี้ที่รฟม.อ้างว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ใช้ทั้งด้านเทคนิคกับด้านราคา (Price Performance) มาประเมินข้อเสนอเพราะเป็นแนวทางที่ดี แต่เหตุใดจึงไม่นำมาใช้ตั้งแต่แรก
"กฎหมายให้ทำแล้วทำไมไม่ทำ ใครสั่ง ใครได้ประโยชน์ เรื่องนี้ไม่มีการแบ่งเค้ก BTS เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราถูกจับตามองโดยนักลงทุนต่างชาติ 3 ปีที่ผ่านมาเราได้รับรางวัลจาก DJSI BTS ยังอยู่ภายใต้สัมปทานรัฐ"