"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (15-19 มี.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2564
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (8-12 มี.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,568.19 จุด เพิ่มขึ้น 1.56% จากสัปดาห์ก่อน และหากพิจารณาผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีจนมาถึงปัจจุบัน ดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรวมกว่า 8% คิดเป็นผลตอบแทนมากที่สุดหากเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ตอบรับกับแรงซื้อที่เข้ามาในหุ้นมูลค่ามาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ในกลุ่มหุ้นวัฏจักร อาทิ กลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงหุ้นอิงกับการท่องเที่ยว สอดรับกับธีมการลงทุนรอบใหม่รับอานิสงส์เศรษฐกิจที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นอีกครั้ง
สำหรับภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ จากการรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าสู่โหมดการพักฐานของดัชนีฯ หรือเป็นลักษณะแกว่งตัวในทิศทางขาลงระยะสั้น ก่อนจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ระยะถัดไป ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงขายทำกำไร ลดระดับความร้อนแรง หลังจากดัชนีปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเฝ้าจับตากับผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่เตรียมจะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ หลังจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯกลับมามีแนวโน้มเป็นขาขึ้น เป็นปัจจัยสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก หลังเกิดการโยกย้ายเม็ดเงินลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง หากอัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่มีผลกระทบต่อกระแสการโยกย้ายเม็ดเงินลงทุนในสัปดาห์นี้ นั่นก็คือดัชนีฟุตซี่ เตรียมปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยราว 0.05% ลงมาสู่ 2.25% จากเดิม 2.3% ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกราว 120 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,600 ล้านบาท โดยหุ้นที่ถูกปรับน้ำหนักลงมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วยหุ้น บมจ. ปตท. (PTT) ,ธนาคารทหารไทย (TMB) , บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) , บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นต้น
นายธวัชชัย อัศวพรไชย รองกรรมการผู้จัดการ บล.เอเอสแอล ประเมินภาพรวมของ SET INDEX ในรอบสัปดาห์นี้ แม้ว่าอาจจะเข้าสู่ช่วงของการพักตัวบ้าง เป็นการพักตัวเพื่อปรับตัวขึ้นในระยะถัดไป เพราะภาพใหญ่ของตลาดหุ้นไทยยังเข้าสู่โหมดตลาดกระทิง ซึ่งเบื้องต้นหากดัชนีสามารถเด้งตัวผ่านกรอบบนแถวบริเวณ 1,585 จุดได้ก็มีโอกาสสูงที่ดัชนีจะทะยานขึ้นไปทดสอบ 1,600 จุดได้อีกครั้ง
ด้านธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้ (15-19 มี.ค.) อยู่ที่ 30.50-30.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด วันที่ 16-17 มี.ค.ทิศทางบอนด์ยีลด์ต่างประเทศ และประเด็นของเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกเดือน ก.พ.64
https://youtu.be/xu2cDu6Yhas