ตลท.เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์ฟรีโฟลตถึง 2 เม.ย.เล็งทยอยปรับน้ำหนักคำนวณดัชนี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 23, 2021 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) เรื่องการปรับเกณฑ์การคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.-2 เม.ย.64 จากที่ผ่านมาที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์สามารถสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ได้ แต่อาจยังมีข้อจำกัดในการสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ของหลักทรัพย์ (Investable) ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ด้วยหลักการคำนวณยังไม่ได้มีปัจจัยที่สะท้อนถึงสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) หรือ หุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาดและยังไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการจัดทำดัชนีในต่างประเทศ

ตลท.มีแนวคิดปรับหลักเกณฑ์ในการคำนวณดัชนีให้สะท้อนวัตถุประสงค์ดังกล่าว รวมถึงแนวทางในการดำเนินงานในการเปลี่ยนผ่าน (transition) เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวทางการปรับปรุงการคำนวณดัชนี ดังนี้

1. ปรับปรุงวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี(Free Float Adjusted Market Capitalization)

2. ปรับปรุงข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (FreeFloat) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี ดังนี้

  • ปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีพร้อมรอบการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ในดัชนี SET50, SET100 , SETCLMV, SETHD, SETTHSI และ SETWB ในเดือนมิ.ย.และธ.ค.ของทุกปี
  • ปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีหากสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) เปลี่ยนแปลงจากค่าเดิมอย่างน้อย 5% ขึ้นไปในเดือนมี.ค. และก.ย.ของทุกปี
  • สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีจะปรับเป็นจำนวนเต็ม 1%

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของทุกหลักทรัพย์เป็นองค์ประกอบของดัชนี อันส่งผลให้ผู้ลงทุนที่มีผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงการเคลื่อนไหวของดัชนี บริหารความเสี่ยงหรือมีฐานะในอนุพันธ์ที่เชื่อมโยงกับดัชนี อาจต้องมีการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีเพื่อ rebalance หรือปรับสถานะตามไปด้วยในจำนวนมาก (Index Turnoverสูง) และอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์

พร้อมกันนี้ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตลท.จึงได้มีการศึกษาแนวทางการดำเนินการในต่างประเทศ ในกรณีที่ผู้จัดทำดัชนีมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณดัชนีที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักของหลักทรัพย์ในดัชนีจำนวนมาก โดยพบว่าผู้จัดทำดัชนีในต่างประเทศ (MSCI ปี 2543 S&P ปี 2547) นั้นจะแบ่งการปรับน้ำหนักหลักทรัพย์ในดัชนีออกเป็น 2 ครั้งทุก 6 เดือนโดยมีผลทีละครึ่งหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลท.จึงจะใช้แนวทางเดียวกับต่างประเทศในการดำเนินการ โดยการทยอยปรับน้ำหนักเป็น 2 ครั้งโดยมีผลทีละครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ ในการดำเนินการปรับการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float Adjusted Market Capitalization) นั้น จะดำเนินการดังนี้

Key Tradable Index ปรับวิธีการคำนวณดัชนี SET50, SET100 และ SETHD ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 64 เป็นต้นไป

ดัชนีอื่นๆ ซึ่งเป็น Composite Index, Industry/Sector Index และ Thematic Index จะทยอยดำเนินการในช่วงปี 65-66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ