SAMART มั่นใจปี 64 ทั้งกลุ่มพลิกฟื้นเป็นกำไร เป้าดันรายได้พุ่งแตะ 1.5 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 23, 2021 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SAMART มั่นใจปี 64 ทั้งกลุ่มพลิกฟื้นเป็นกำไร เป้าดันรายได้พุ่งแตะ 1.5 หมื่นลบ.

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการทั้งกลุ่มในปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไร จากปีก่อนที่ขาดทุนราว 309 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่ารายได้รวมจะเพิ่มมาที่ 1.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่สถานการณ์โควิดทำให้รายได้รวมลดลงไปเหลือ 6,491 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจสายธุรกิจ Digital ICT Solutions ที่อยู่ภายใต้การบริหาร บมจ.สามารถเทเลคอม (SAMTEL) รายได้ราว 8 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 5,510 ล้านบาท สายธุรกิจ Digital ผ่าน บมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) คาดว่าจะมีรายได้กว่า 2 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มี 659 ล้านบาท ที่เหลือจะมาจากสายธุรกิจ Utilities & Transportation ผ่านกลุ่มสามารถยูทรานส์

ขณะที่รายได้ประจำ (Recurring Revenue) ตั้งเป้าใน 2 ปีนี้มีสัดส่วน 50% ของรายได้รวม โดยปีก่อนรายได้ประจำลดลงมาเหลือ 30% จากอดีตมีสัดส่วน 40%

"ปีนี้กลุ่ม SAMART จะฟื้นตัวจากปีก่อนที่ suffer จากสถานการณ์โควิด-19 SAMTEL ปีก่อนก็ขาดทุนในรอบหลายปี เพราะมีงานในสนามบินเยอะ ปลายปีที่แล้วเรา write-off ไปหมดแล้ว ปีนี้เราเปลี่ยน Business Model เป็น B2G2C มากขึ้น และ SDC จะเปิดตัว Mobile APP หลายธุรกิจปีนี้จะดีขึ้น"นายวัฒน์ชัย กล่าว

ในส่วน SAMART เพิ่งได้ลงนามสัญญารับงานพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) บนภาชนะบรรจุสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตภายในประเทศทั้งหมด 9 แห่ง รวม 42 สายพานการผลิต มูลค่าโครงการ 8,032 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้เป็นระยะเวลา 7 ปี หรือราวปีละกว่า 1 พันล้านบาท ขึ้นกับจำนวนเบียร์ที่ผลิต อัตรา 0.25 บาท/ขวดหรือกระป๋อง เริ่มรับรู้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/64 หรือต้นไตรมาส 3/64

ขณะที่บริษัทมองว่าจากการรับงานดังกล่าว ทำให้บริษัทมีโอกาสจะได้งานลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมในสินค้าประเภทสุรา Fruit Beer และ น้ำมันเชื้อเพลิง

นอกจากนั้น กลุ่ม SAMART โดยบริษัท ซีเคียวอินโฟ จำกัด (SECUREiNFO Co.,Ltd.) จับมือกับ Lookout ผู้นำด้าน Mobile Security จากสหรัฐอเมริกา เปิดตัวแอปพลิเคชั่น "ปกป้อง" (PokPong) ที่จะมาช่วยเฝ้าระวังและป้องกันภัยทางไซเบอร์ให้กับผู้ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งมีระบบฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดผ่านระบบ Lookout Security Cloud ตรวจจับและป้องกันมัลแวร์ไวรัสได้เร็วกว่าและครอบคลุมกว่า ลดโอกาสการถูกโจมตีจากภัยคุกคามต่างๆ โดยมีฟังก์ชั่นภาษาไทยใช้งานง่าย ซึ่งบริษัทใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท

แอปฯ ปกป้อง จะเปิดตัวและเริ่มให้บริการหลังจากเทศกาลสงกรานต์ อัตราค่าบริการ 59 บาท/เดือน หรือ 559 บาท/ปี ตั้งเป้าหมายผู้ใช้บริการปีแรก 1 ล้านราย โดยคาดว่าจะมียอดผู้ใช้งาน 1-2% จากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 92 ล้านเลขหมาย เนื่องจากมีกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์โฟนถึง 55 ล้านคน ซึ่งบริษัทกับ Lookout ทำข้อตกลงแบ่งส่วนรายได้ฝ่ายละ 50%

*SAMTEL วางเป้ารายได้ปีนี้ 8 พันลบ.เชื่อฟื้นมีกำไรหลังงานได้ใหม่กว่า 1 หมื่นลบ.

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในปีนี้ SAMTEL มั่นใจว่าบริษัทจะพลิกมีกำไรจากปีก่อนขาดทุน 287.50 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้อยู่ 6,860 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับงานใหม่เข้ามาอีกราว 1 หมื่นล้านบาท จากงานที่เข้าประมูลมูลค่ารวมกว่า 1.5-2 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีงานใหม่เข้ามาเพียง 3,265 ล้านบาท เนื่องจากภาครัฐชะลอการประมูลงานหลังจากติดสถานการณ์โควิด-19

สำหรับแนวโน้มงานที่จะได้รับเข้ามาเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการให้บริการระบบธุรกรรมที่ดินแบบออนไลน์ของกรมที่ดิน มูลค่า 5-6 พันล้านบาท งานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 4 พันล้านบาท งานวางระบบกลุ่มธนาคาร อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ รวมมูลค่าราว 1 พันล้านบาท งานของตำรวจ 191 มูลค่า 6 พันล้านบาท โดยในไตรมาส 1/64 ได้เซ็นสัญญาไปแล้ว 800-1,000 ล้านบาท

*SDC ลุ้นปีนี้ Turn around จากปีก่อนขาดทุน คาดรายได้สูงแตะ 2 พันลบ.จากปี 63 ต่ำพันลบ.

สำหรับ SDC นายวัฒน์ชัย มั่นใจว่าปีนี้จะ Turnaround และมีรายได้สูงขึ้น มาจากงานการให้บริการ Digital Trunk Radio ที่จะได้งานเพิ่มจากกระทรวงมหาดไทย และ กฟภ.ทั้ง 2 สัญญารวมมูลค่า 4-5 พันล้านบาท คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในไตรมาส 2/64 และปีนี้ยอดผู้ใช้บริการ (subscriber) จะเพิ่มเป็น 9 หมื่นราย

นอกจากนี้จะนำแอปพลิเคชั่นหมอดูมาปัดฝุ่น Relunch เป็น HORO World ที่จะให้บริการดูดวงชะตาตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต คาดว่าจะทำให้รายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท

*เลื่อนส่ง CATS เข้าตลาดหุ้นไปปลายปี 65,มองหาโอกาสธุรกิจใหม่

นายวัฒน์ชัย ยังกล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยของบริษัทย่อย คือบมจ. สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ซึ่งถือหุ้นบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ที่ทำธุรกิจด้านการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา คาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ได้อีกครั้งในปลายปี 65 เนื่องจากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจ CATS โดยเฉพาะจำนวนเที่ยวบินลดลงอย่างมาก เหลือ 10-20% แต่ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นกลับมา 30-40% และคาดว่าปีนี้จะมีกำไร ก่อนจะฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติในปีหน้า

กลุ่ม SAMART ยังมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะการลงทุน Start up ผ่าน Angel Fund ซึ่งจะเข้าไปร่วมพัฒนาบริษัทที่มีโอกาสเติบโต หรือเป็นลักษณะ Venture Capital (VC) จากปีที่แล้วได้ลงทุน Start up ในกองทุนต่างประเทศที่สหรัฐ ร่วมกับรพ.ศิริราช เป็นเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า บริษัทมี short list บริษัทที่มีแนวโน้มเข้าร่วมลงทุน 20 ราย และกลุ่มธุรกิจที่จะให้ทุนเริ่มต้น (Early Stage) ราว 25 ผลงาน แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะลงทุนเท่าไร เพราะต้องหารือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อน ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้คาดหวังเชิงรายได้ และในส่วนที่ลงทุนกลุ่ม Growth Stage ขณะนี้มี 25 ผลงานที่จะแข่งขัน หรือ Piching ในปลายมี.ค.นี้

รวมทั้งบริษัทยังร่วมพันธมิตรศึกษาธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะจากนิคมอุตสาหกรรม โดยมีลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านคงต้องชะลอออกไปก่อน เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่มาก อนึ่ง ก่อนหน้านี้กลุ่ม SAMART เคยเข้าศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ