นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายทางธุรกิจในปี 64 ที่จะเติบโตราว 20% โดยหวังยอดขายแตะ 1,200 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมาจากกลุ่มงานรับเหมา 500 ล้านบาท กลุ่มงานตู้โลหะ 40 ล้านบาท กลุ่มงานตู้สวิตบอร์ด 40 ล้านบาท กลุ่มงานเชื่อมประกอบ 30 ล้านบาท กลุ่มงานชิ้นส่วนโลหะ 200 ล้านบาท และงานชิ้นส่วนเครื่องมือจักรกลจะเติบโตขึ้นถึง 330 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีงานในมือ (Backlog) งานรับเหมาปีละ 500-600 ล้านบาท และงาน B2B อยู่ที่ 200-300 ล้านบาท
บริษัทเตรียมแผนขยายการผลิตด้วยการจัดตั้งโรงงานใหม่บนที่ดิน 25 ไร่ ซึ่งจะขออนุญาตเป็นเขตปลอดอากร (Free zone) เพื่อผลิตสินค้าส่งออกทั้ง 100% ปัจจุบันอยู่ในช่วงปรับสถานที่และขอใบอนุญาต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปีและสามารถเริ่มผลิตอย่างจริงจังได้ในต้นปีหน้า ประมาณการงบลงทุนเฟสแรก 200 ล้านบาท พื้นที่ขนาด 9,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างตัวโรงงาน 30-40 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นค่าระบบและเครื่องจักรกล
นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีการวางงบลงทุนจำนวน 40 ล้านบาทเพื่อรองรับการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
นายธีรวัต กล่าวถึงธุรกิจผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าว่า ได้รับความสนใจจากลูกค้ากลายกลุ่ม ทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ผู้ประกอบการ Foodtruck โดยมั่นใจว่าแนวโน้มธุรกิจจะเป็นไปได้ด้วยดี เพราะปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมของตลาด จึงมีแผนขยายตลาดไปยังผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ สำหรับใช้เป็นรถขนส่งภายในโรงงาน ขณะเดียวกัน บริษัทจะดำเนินการเพื่อให้สามารถจดทะเบียนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการนำไปใช้บนท้องถนนด้วย
บริษัทยังได้วางแผนขยายงานการผลิตสินค้าเฟอนิเจอร์ที่มีส่วนประกอบของโลหะเป็นหลัก เนื่องจากทางบริษัทดำเนินการแปรรูปโลหะอยู่แล้ว จึงต้องการทำผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากชิ้นส่วนอุตสาหกรรมหรือเครื่องจักรกลบ้าง โดยวางแผนจัดจำหน่ายเข้าสู่ผู้บริโภคกลุ่มครัวเรือน และในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตสินค้าออกมาแล้ว
สำหรับการร่วมทุนกับบริษัท นิตโต้ โคเกียว คอร์เปอเรชั่น จำกัด (Nitto Kogyo Corporation) ภายใต้ บริษัท นิตโต้ โคเกียว บีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้จัดตั้งโรงงานแห่งใหม่แล้วในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ พื้นที่ 9,000 กว่าตารางเมตร บางส่วนเริ่มผลิตแล้ว และคาดว่าจะสามารถผลิตเต็มรูปแบบภายในเดือน เม.ย.เป็นต้นไป แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ 1) ผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนบริษัทหลักในญี่ปุ่น 2) ผลิตเป็นสินค้าที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ บริษัท นิตโต้ โคเกียว บีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
"แผนการตลาดของโรงงานแห่งนี้ ไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศ ยังมองถึงตลาดในอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งทางบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเติบโตได้ดี เพราะโรงงานมีคุณภาพและมาตรฐานการผลิตแบบญี่ปุ่น แต่ราคาจำหน่ายเป็นแบบไทย ซึ่งจะสามารถดึงดูดลูกค้าได้"นายธีรวัต กล่าว
ทางบริษัทได้พยายามหาลูกค้าใหม่ ๆ เช่นการสร้างตลาดในเมียนมา แม้จะมีปัญหาด้านการเมือง แต่ทางบริษัทยังคงดำเนินการเจรจาต่อไป เพราะยังคงมั่นใจว่าจะเป็นตลาดที่สร้างรายได้ในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังคงหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ภายในสินค้า 6 หมวดหลัก คือ 1.กลุ่มงานรางและท่อร้อยสายไฟฟ้า 2.กลุ่มงานผลิตตู้สื่อสาร ตู้ไฟฟ้า ตู้โลหะ 3.กลุ่มแผงควบคุมไฟฟ้าและตู้ควบคุมไฟฟ้า 4.กลุ่มโลหะเชื่อมประกอบ 5.กลุ่มแม่พิมพ์โลหะ เครื่องมือ อุปกรณ์ และ 6.กลุ่มชิ้นส่วนโลหะ
รวมไปถึงทางบริษัทได้ทำการลดต้นทุนการผลิต โดยลดการใช้แรงงานและเพิ่มระบบ Automation เข้าไปมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ทางบริษัทสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้ รวมไปถึงเปลี่ยนมุมมองจากคู่แข่ง เป็นคู่ค้า มีการจัดหาชิ้นส่วนย่อยส่งให้กับบริษัทคู่ค้า เป็นการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งให้กับทางบริษัทอีกด้วย