"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (29 มี.ค.-2 เม.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2564
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (22-26 มี.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,574.86 จุด เพิ่มขึ้น 0.70% จากสัปดาห์ก่อน โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ ขานรับกับแรงซื้อช่วงปลายสัปดาห์ในหุ้นกลุ่มการท่องเที่ยว, กลุ่มสื่อบันเทิง และกลุ่มขนส่ง เป็นต้น
สำหรับภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าจะแกว่งตัวเป็นขาขึ้นต่อเนื่องข้ามไปถึงเดือน เม.ย. โดยดัชนีฯมีลุ้นขึ้นไปทดสอบแถวบริเวณ 1,585-1,590 จุดได้อีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นบวกความคาดหวังกระแสการไหลเข้าของเม็ดเงินของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ที่มักจะทำ "Window Dressing" ช่วงสิ้นสุดไตรมาส โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ตัวเลขทางบัญชีได้แสดงผลกำไรจากการถือหุ้นของแต่ละกองทุนในรอบไตรมาสนั้น
ขณะเดียวกัน ด้านปัจจัยต่างประเทศก็เริ่มที่จะมีกระแสการพูดถึงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกี่ยวกับการประกาศลดข้อจำกัดการจ่ายเงินปันผลของกลุ่มธนาคาร จึงเป็นที่มาของความคาดหวังของกลุ่มผู้ลงทุนที่มีมุมมองเชิงบวกต่ออัตราผลตอบแทนการจ่ายเงินปันผลของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในบ้านเรา ที่อาจจะมีอัตราเงินปันผลที่กลับมาดีขึ้นกว่าในอดีต นับว่าสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มเห็นสัญญาณการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภาครัฐที่คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุน ในหุ้นกลุ่มที่อิงกับการฟื้นตัวของผู้บริโภคในประเทศ ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ด้านนายธวัชชัย อัศวพรไชย รองกรรมการผู้จัดการ บล.เอเอสแอล ระบุว่า สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้จะดูดีขึ้น แต่ยังคงแนะนำให้เฝ้าจับตาอีกหนึ่งประเด็นสำคัญนั้นก็คือ กรณีที่เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ได้เกยตื้นขวางคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญของโลก เปรียบเสมือนเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างโซนเอเซียและยุโรป และถึงแม้ว่าในระยะสั้นจะส่งผลบวกต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มน้ำมัน แต่ผลที่ตามมานั้นก็คือต้นทุนด้านต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น จนอาจกลายเป็นปัจจัยกระทบต่อศักยภาพการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้เช่นกัน
ด้านบทวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงวันที่ 29 มี.ค.ถึง 2 เม.ย.นี้ โดยคาดดัชนีจะแกว่งตัวออกข้างหรือ Sideways ซึ่งดัชนีมีแนวต้านที่ 1,584 จุด และ 1,595 จุด ส่วนแนวรับอยู่ที่ 1,554 จุด และ 1,540 จุด ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังคงขาดปัจจัยใหม่หนุน ขณะเดียวกันยังต้องติดตามการประชุมโอเปกพลัส ในวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. ต้องติดตามท่าทีของซาอุฯ ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่ หลังการประชุมครั้งก่อนซาอุฯ ยอมขยายเวลาลดการผลิตโดยสมัครใจส่วนด้าน US Bond Yield 10 ปี ทรงตัวที่ 1.63% หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด แถลงต่อสภาคองเกรส โดยไม่ได้ส่งสัญญาณควบคุมตลาดพันธบัตร เนื่องจากมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวในปัจจุบันเป็นแค่ปัจจัยชั่วคราว และย้ำว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังห่างไกลเป้าหมายของเฟด อย่างไรก็ตามผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 7 ปี มีความต้องการน้อย แสดงถึงนักลงทุนคาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรจะเร่งสูงขึ้นนอกจากนี้ต้องติดตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐขนาดใหญ่สัปดาห์หน้า ซึ่งจะช่วยหนุนชนชั้นกลาง และเร่งการลงทุนรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับจีน
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 30.90-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.พ.ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สถานการณ์โควิด 19 และประเด็นของเรื่องวัคซีนทั่วโลก รวมถึงทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตเดือนมี.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนก.พ. ดัชนีราคาบ้านเดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกันด้วยเช่นกัน
https://youtu.be/KwdK8cUMLYQ