โบรกฯ แนะขายหรือหลีกเลี่ยงหุ้น TMB จากปัญหาความไม่แน่นอนของแผนเพิ่มทุน 3.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการเข้ามาถือหุ้นของพันธมิตรต่างชาติรายใหม่ คือ ไอเอ็นจี ที่อยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงการคลัง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหุ้นของดีบีเอสของสิงคโปร์ที่ปัจจุบันถืออยู่ 16% เนื่องจากดีบีเอสปฏิเสธซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งทั้งหมดอาจมีผลทำให้สัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติใน TMB ปรับเปลี่ยนไป
ขณะที่ในแง่ปัจจัยพื้นฐาน ผลประกอบการ TMB ยังน่าจะออกมาขาดทุนในปีนี้และจะดีขึ้นในปีหน้า แต่ถึงแม้ว่าปี 51 แนวโน้มอาจทำกำไรได้หลังมีการเพิ่มทุนแล้ว แต่กำไรต่อหุ้นก็คงไม่มาก เพราะมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมากหลังการเพิ่มทุนก้อนใหญ่
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาพื้นฐาน (บาท)
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ขาย 1.69
บล.เอเซีย พลัส หลีกเลี่ยง 1.33
บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หลีกเลี่ยง ปรับลดลงอีกจากเดิม 1.9
บล.ฟินันซ่า ขาย 1.79
บล.ไทยพาณิชย์ ขาย 1.40
น.ส.ศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า หาก TMB สามารถสรุปแผนเพิ่มทุนได้ทันภายในเดือน ต.ค.ตามที่กำหนดไว้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่พันธมิตรต่างชาติรายใหม่จะเข้ามาถือหุ้นได้ถึง 25% หรือไม่ยังไม่ชัดเจน เพราะต้องรอการพิจารณาของทางการ ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างของ BAY และ TBANK ที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติสามารถเข้ามาถือเกิน 25%
กรณีของ TMB ขณะนี้ DBS ถืออยู่ 16% หากมีรายใหม่เข้ามาถืออีก 25% ก็จะทำให้สัดส่วนหุ้นต่างชาติเพิ่มเป็น 41% ส่วนดีบีเอสจะขายหุ้นทิ้งหรือไม่ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่หากถือต่อไปก็มองว่าอาจไม่ได้ประโยชน์
แนะขายให้ราคาพื้นฐานที่ 1.69 บาท โดยอิงกับ P/BV ที่ 1 เท่า มองว่าปีนี้ทั้งปีจะขาดทุนจำนวนมากที่ 23,000 ล้านบาท เพราะจะต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมในครึ่งปีหลัง แต่ปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น
"ที่ให้ 1.69 บาท/หุ้น มองว่าไตรมาส 4 จะเพิ่มทุนสำเร็จ และมีเงินเข้ามาอีก 35,000 ล้านบาท ในราคา 1.50 บาท เพราะฉะนั้นจะต้องเพิ่มทุนขึ้นมาอีกค่อนข้างเยอะ แต่ที่แนะขายเพราะภาพยังไม่ชัดเรื่องเงินเพิ่มทุนจะเข้ามาได้เมื่อไร ราคาเพิ่มทุนจะเป็นเท่าไร"น.ส.ศศิกร กล่าว
น.ส.อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชียพลัส กล่าวว่า หากกระทรวงการคลังอนุมัติให้ต่างชาติถือหุ้น TMB เพิ่มได้ก็ดี ถือว่าเป็นการเปิดช่องทางให้ต่างชาติรายใหญ่เข้าไปถือได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก
"ให้ราคาเป้าหมาย 1.33 บาท แนะขายเพราะเกินไปมากแล้ว คงเล่นตามข่าว ซึ่งตอนนี้มีรายเดียวคือไอเอ็นจีฯ แต่สุดท้ายอยู่ที่คลังคนเดียว"น.ส.อุษณีย์ กล่าว
น.ส.สุกัญญา อุดมวรนันท์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)แนะให้หลีกเลี่ยง TMB ไปก่อน เพราะไม่ว่าจะเป็นไอเอ็นจีหรือใครเข้ามาถือหุ้นก็ต้องรอให้ก.คลังและแบงก์ชาติอนุมัติ ซึ่ง TMB จะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่มาขายให้ โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือปัจจุบัน DBS Bank ก็ถือ 16% แล้ว และหากคิดบนพื้นฐานว่ามีการออกหุ้นเพิ่มทุน ก็จะทำให้จำนวนหุ้นใหม่สูงมาก เพราะต้องเพิ่มทุนถึง 35,000 ล้านบาท
ราคาเหมาะสมเดิมอยู่ที่ 1.90 บาท/หุ้น แต่ควรจะลดลงไปอีกจากที่ประกาศงบไตรมาส 2/50 ออกมาขาดทุนเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท และก็ต้องปรับราคาลงอีกถ้าจะมีทุนเพิ่มเข้ามา
"ระหว่างนี้ก็เป็นข่าวลือเหมือนทุกครั้ง แต่แนะนักลงทุนอย่าไปเก็งกำไรกับข่าวเพราะพื้นฐานยังไม่ดี ปีนี้ทั้งปียังขาดทุน ปีหน้าก็มองว่าอาจจะยังขาดทุนอยู่ถ้ากลับลำยังไม่ทัน หรือต่อให้ไม่ขาดทุน EPS หรือกำไรต่อหุ้นจะเหลือเท่าไร เพราะหุ้นมีเยอะมาก" น.ส.สุกัญญา กล่าว
ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.ฟินันซ่า ระบุว่า ราคาหุ้น TMB มักเคลื่อนไหวตามกระแสข่าวการได้พันธมิตรใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มทุน โดยใส่ความคาดหวังว่าราคาที่เสนอขายจะมีพรีเมี่ยมจากราคาในกระดาน ซึ่งเราไม่เห็นด้วยเพราะเม็ดเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนนั้นต้องใช้ทั้งแก้ปัญหาเก่า ปรับองค์กร และสร้างการเติบโตในอนาคต
หากการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมอิง BV เป็นส่วนประกอบ พบว่าล่าสุด (ณ สิ้นส.ค.) BV ของTMB ลดลงเหลือ 1.79 บาท (vs. 2.42 บาท เดือนก่อน) และหากอิงราคาเป้าหมายสิ้นปี 08(P/BV Multiple) ของเราที่ 1.61 บาท/หุ้น หมายถึง Downside อีก 16% แต่ราคาเป้าหมายอาจต่ำไปกว่านี้อีก หลังขาดทุนที่จะเกิดขึ้นใน 2H07 มีแนวโน้มสูงกว่าคาด ยังให้ “ขาย"
ด้าน บล.ไทยพาณิชย์ เห็นว่า แผนเพิ่มทุนยังไม่มีความแน่นอน แม้จะมีกำหนดต้องทำให้เสร็จภายในสิ้นปี 50 เพื่อสนับสนุนการตั้งสำรองเพิ่มและการขยายธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้ เชื่อว่าประเด็นเกี่ยวกับพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่ของ TMB สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นแล้ว ผลประโยชน์ตอบแทนที่มีแนวโน้มจะได้รับจากพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่อาจจะมีไม่มากนักสำหรับในกรณีของ TMB ไม่เหมือนกับกรณีของ BAY-GE เนื่องจากกระทรวงการคลังยังต้องการที่จะมีอำนาจบริหารใน TMB
ยังคงคำแนะนำ “ขาย"และลดราคาเป้าหมายลงจาก 1.8 บาท สู่ 1.4 บาท (PBV ปี 2551 ที่ 0.9 เท่า อิงกับ ROE ระยะยาวที่ระดับ 8-9%) เราได้รวมเอาแผนเพิ่มทุน 3.5 หมื่นล้านบาทโดยใช้สมมติฐานราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนหุ้นละ 1.5 บาทเข้ามาไว้ในประมาณการแล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--