นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง (RT) เปิดเผยว่า บริษัทศึกษาโมเดลธุรกิจใหม่ในฐานะผู้ลงทุนเพื่อสร้างรายได้ประจำเป็นครั้งแรก ด้วยการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้าง หลังจากรับงาน EPC มาอย่างต่อเนื่อง และเห็นโอกาสทางธุรกิจจากความต้องการไฟฟ้าในเมียนมาที่ยังมีสูงมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด
บริษัทเตรียมวางแผนลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 10 MW ในเมืองเมาะลำไยหรือทวาย ซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคประมงที่ใช้ในการแปรรูปสินค้าประมง โดยบริษัทจะเข้าไปสร้างเขื่อนขนาดเล็กและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าท้ายเขื่อน ซึ่งจะใช้รูปแบบโครงการจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในคลองตรอน จ.อุตรดิตถ์ ที่บริษัทเคยได้รับงานมาก่อนหน้านี้
นายชวลิต คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนราวเมกะวัตต์ละ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้มีพันธมิตรทางธุรกิจจากออสเตรียที่เป็นที่ปรึกษาการก่อสร้างเสนอตัวจะหาผู้ลงทุนจากยุโรปเข้ามาร่วมทุน พร้อมกับการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นเข้ามาร่วมถือหุ้น ขณะที่บริษัทก็มองแนวทางระดมทุนด้วยเครื่องมือทางการเงินหรือใช้เงินกู้เพื่อนำมาลงทุนในโครงการดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทจะเดินหน้าลงทุนโครงการดังกล่าวหากศึกษาพบว่าได้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10-12% คาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการราว 1 ปี
ส่วนการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดเล็กใกล้เมืองย่างกุ้งที่เคยศึกษาไว้ 2 แห่ง แห่งละ 5 เมกะวัตต์ คงต้องชะลอไว้ก่อน แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่ปกติแล้ว บริษัทก็จะกลับมาเดินหน้า รวมทั้งมองหาโอกาสลงทุนในเมืองอื่น ๆ เพราะความต้องการไฟฟ้าในแทบทุกพื้นที่ของเมียนมายังมีสูงมาก
"เราเคยเลือกโครงการในเมียนมา 2 โครงการในย่างกุ้งแล้ว โครงการละ 5 MW แต่ต้องหยุดไป เราชะลอไว้ก่อน เลือกไปทางใต้ดีกว่า เพราะความต้องการใช้ไฟมาก เขาอยู่บนเกาะไม่มีไฟ อยู่บนฝั่งก็ไม่มีไฟ เขามีปลาที่จับมาได้มาก แต่ต้องใช้ฟืนในการอบปลา เราต้องคุยกับ Local Partner ตัวจริง ทำจริง เราจะต้องลงทุนสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ไม่เกิน 10 MW อย่างน้อยเริ่มต้น 1 โรงก่อนเป็นการประเดิมโมเดลนี้ให้สำเร็จทีละจุด มองทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมา"นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทในการรับเหมางานต่าง ๆ ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานภาครัฐที่ทยอยออกมามากขึ้น และบริษัทมีจุดเด่นในงานแต่ละด้านที่มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะงานขุดเจาะอุโมงค์ ทำให้ต้นปี 64 บริษัทได้งานใหม่เข้ามาอีก 13 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 688 ล้านบาท ส่งผลให้งานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) เพิ่มขึ้นเป็น 4,240 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 63 มี Backlog อยู่ที่ 3,552 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในช่วงปี 64-65
ขณะที่บริษัทตั้งเป้ารักษา Backlog ในแต่ละปีอย่างน้อย 4 พันล้านบาท หากทำได้ก็จะช่วยสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทเติบโตทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องอย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปี 64 ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% หรืออยู่ที่ 3,600 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 15-20%
อย่างไรก็ตาม จากปริมาณงานที่เข้ามามากในปีนี้ทำให้บริษัทวางเป้าหมายสิ้นปี 64 ปริมาณ backlog จะสูงแตะ 7 พันล้านบาท แต่ก็มีโอกาสที่ backlog จะทำได้สูงกว่าคาดการณ์ หากบริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประมูลโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งเป็นสำคัญที่ติดตามอยู่ โดยมีมูลค่างานอุโมงค์ราว 1.5 หมื่นล้านบาท บริษัทคาดหวังจะได้รับงานในส่วนนี้ราว 7 พันล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ 4 ปี ซึ่งจะมีข้อสรุปราวกลางปีนี้
นอกจากนั้น บริษัทยังจะรุกขยายการรับงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMV ที่บริษัทมีความชำนาญพื้นที่ ซึ่งมีโอกาสงานเข้ามาเพิ่มเติม โดยเฉพาะงานขนาดใหญ่ในลาวอย่างโครงการโรงไฟฟ้าหลวงพระบางขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ของ บมจ.ซีเคพาวเวอร์ (CKP) ที่อยู่ระหว่างการรอสรุปการเจรจาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งบริษัทคาดหมายว่าจะได้รับงานโครงสร้างคอนกรีตมูลค่าราว 7 พัน-1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 10% ของมูลค่าโครงการทั้งหมดราว 1 แสนล้านบาท
นายชวลิต กล่าวว่า เนื่องจากผลงานที่บริษัทเคยเข้าร่วมก่อสร้างโครงการไซยะบุรีให้สำเร็จ ทำให้ CKP ได้เชิญชวนให้บริษัทไปร่วมโครงการใหม่แห่งนี้ด้วย คาดว่าจะสามารถเริ่มงานได้ภายในปลายปี 64 นี้ หากได้งานดังกล่าวก็จะทำให้ Backlog ของบริษัทเพิ่มขึ้นไปอีกมากจากที่ตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะเป็น 7 พันล้านบาท และทำให้สัดส่วนงานต่างประเทศต่องานในประเทศของบริษัทเพิ่มขึ้นมาเป็น 50:50 จากล่าสุดในปี 63 ที่ลดลงไปเหลือไม่ถึง 5%
"งานไซยะบุรีเรารับมาแล้ว 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็น record ที่ดีมาก งานหลวงพระบางนี่เราไม่พลาดแน่ เขาติดต่อเรามาแล้ว เพราะเราสามารถเร่ง Production ได้ตามที่เขา request...มูลค่างานหลวงพระบาง ไม่น้อยกว่า 7 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าโปรเจ็คราว 1 แสนล้านบาท คาดหวังจะได้งานไม่ต่ำกว่า 10%"
ขณะที่โอกาสงานอื่น ๆ ใน CLMV ยังมีอีกมาก ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงบริษัทก็จะไปติดตามงาน เช่น งานซ่อมแซมเขื่อนน้ำเงี๊ยบ 1 ในลาว , งานเขื่อน งานโครงสร้าง ซ่อมโรงงานด้วยการอัดฉีดน้ำปูนเนื่องจากโครงสร้างทรุดตัว งานเขื่อนพลังน้ำ ในเมียนมา , งานเขื่อนและคลองส่งน้ำใกล้กับศรีโสภณในกัมพูชา ซึ่งพันธมิตรเกาหลีได้งานหลักแล้ว เป็นต้น
บริษัทยังสนใจติดตามงานนอก CLMV คือในเนปาล และภูฎาน หลังจากที่พันธมิตรต่างประเทศได้เชิญชวนให้บริษัทไปร่วมงาน แต่ยังคงต้องรอจังหวะที่เหมาะสม หากได้พันธมิตรท้องถิ่นเข้ามาร่วมทุนและสามารถทำให้สามารถเสนอราคาได้สูสีกับคู่แข่ง บริษัทก็จะเข้าไปศึกษาโอกาสการรับงานอีกครั้ง