นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายรายได้ 5 ปีจากนี้จะเติบโตแตะ 20,000 ล้านบาท เป็นไปตามการขยายตัวของธุรกิจต่างๆ ทั้งธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC), ธุรกิจเทรดดิ้ง และธุรกิจกลยุทธ์การลงทุนและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ของหุ้น GUNKUL ขยับเป็น 60,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 38,000-40,000 ล้านบาท และคาดหวังว่าจะเข้าคำนวณในดัชนี SET50 ได้
"เป้าหมายใหญ่ของบริษัทคืออยากไป SET 50 ซึ่งต้องมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบัน GUNKUL มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ประมาณ 38,000-40,000 ล้านบาท แสดงว่าควรมีการเติบโตขึ้นเพื่อทำกำไรและรายได้ที่ครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย จากปีก่อนที่มีรายได้ราว 10,000 ล้านบาท"นายสมบูรณ์ กล่าว
แผนการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 11,047 ล้านบาท โดยผลงานในไตรมาส 1/64 คาดว่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หลังโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 170 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ดีขึ้น จากกระแสลมดีกว่าช่วงปีก่อน โดยเฉพาะเดือน ม.ค.64 เดือนเดียวก็ดีกว่าทั้งไตรมาสของปีก่อนแล้ว ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็ผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วกว่า 600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม 170 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์
ด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ราว 8,000 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 3,000-4,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ฯ ในปีหน้า รวมถึงมีแผนประมูลงานใหม่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท คาดหวังจะได้รับงานราว 10%
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนนำบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล (FEC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ GUNKUL ที่ดำเนินธุรกิจ EPC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคาดว่าจะแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ได้ในไตรมาส 3/64 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่เกิน 1 ปีหลังจากนั้น
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการสร้างโรงงานสกัดกัญชงเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศน้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชงเฟสแรก 150 ไร่ จากที่ดินพร้อมพัฒนาในตอนนี้ทั้งหมด 2,111 ไร่ หลังจากบริษัทมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการคัดเลือกและนำเข้าเมล็ดพันธุ์เข้ามาปลูกแล้ว คาดว่าจะสามารถเริ่มปลูกได้ไม่เกินเดือนก.ค.นี้
พร้อมกันนี้บริษัทจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) อนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่เพื่อร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อดำเนินธุรกิจกัญชง คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเห็นความชัดเจน
สำหรับงบการลงทุนรวมในระยะเวลา 3 ปี (64-66) วางไว้ราว 2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท โดยยังมีแผนออกหุ้นกู้ในวงเงิน 15,000 ล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ ๆ ด้วย