นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน มี.ค.64 พบว่า ดัชนีฯในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 145.55 ปรับตัวลดลง 4.4% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ นักลงทุนคาดหวังการคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 จากการกระจายวัคซีนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ที่ยังระบาดในหลายประเทศ รองลงมาคือการท่องเที่ยว และสถานการณ์การเมืองในประเทศ
ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน 2564) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120 -159) ปรับตัวลดลง 4.4% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 145.55
ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง"
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ Covid-19 คลี่คลายจากการกระจายวัคซีน
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ในหลายประเทศ
ผลสำรวจ ณ เดือน มี.ค.64 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 1% อยู่ที่ระดับ 139.47 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35% อยู่ที่ระดับ 154.55 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% อยู่ที่ระดับ 150.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลง 18% อยู่ที่ระดับ 150.00
นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดแฟชั่น (FASHION) และหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือน มี.ค.64 SET index ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกด้านความคืบหน้าของการทยอยฉีดวัคซีนในประเทศ แม้ว่าในช่วงกลางเดือนปรับตัวลงบ้างเล็กน้อย จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง แต่ช่วงครึ่งเดือนหลังดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากข่าวดีในประเทศ อาทิ การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังวงเงินรวม 350,000 ล้านบาท และการออกแนวทางการผ่อนปรนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. SET Index ปิดที่ 1,587.21 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.04% จากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ภาพกระแสเงินทุนไหลเข้าในไตรมาส 2/64 คาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกจากไตรมาสแรกที่ติดลบ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักเรื่องของการเปิดประเทศมากที่สุด และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะที่ประเด็นการเมืองในประเทศไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ฉุดตลาดได้มากนัก
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นต่อได้ จากผลสำรวจนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ปรับเพิ่มเป้าดัชนี ณ สิ้นปี 64 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,629 จุด ตามการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) คาดว่าจะมากกว่า 50% จากฐานที่ต่ำในปีก่อน และดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับยังมีปัจจัยบวกจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ โดยหากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปตามแผน และการเปิดประเทศเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศจริง ก็น่าจะเห็นเงินทุนไหลเข้า (Fund Flow) กลับมาอย่างเป็นรูปธรรมได้ในครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังมองว่าค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวอ่อนค่าลงในครึ่งปีหลังนี้ เป็นผลจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งจะเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดการขาดดุลการค้าสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มีความน่าสนใจอีกครั้ง
"จุดที่จะทำให้ Fund Flow ไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น คือ เมื่อเริ่มฉีดวัคซีนในปริมาณมากๆ หรือเดือนละ 10 ล้านโดส, การเปิดประเทศจะนำไปสู่การดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศได้จริงและเป็นไปตามคาดหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตาดูในอีก 2 เดือนข้างหน้า คือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ และจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบต่อไปถึงเมื่อไหร่ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าเฟดจะส่งสัญญาณในเรื่องการลดการอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงกลางปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปี 66 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของ Fund Flow จากปัจจุบันที่ยังเข้าๆ ออกๆ อยู่"นายไพบูลย์ กล่าว