ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ที่ระดับ "BBB+" และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "BBB" โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนถึงสัดส่วนของหนี้ที่มีหลักประกันที่อยู่ในระดับสูงของบริษัท ซึ่งหนี้ที่มีหลักประกันนั้นมีสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทเหนือกว่าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" เพื่อสะท้อนแนวโน้มการอ่อนตัวของกำไรของบริษัทและภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากการกระจุกตัวของงานในมือ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและความเป็นไปได้ที่การประมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐจะล่าช้าออกไปซึ่งอาจขัดขวางการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทได้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- เป็นผู้รับเหมาชั้นนำ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากผลงานที่ได้รับการยอมรับในโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) บริษัทยังมีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างเป็นของตนเอง เช่น โรงหล่อคอนกรีตและโรงงานแปรรูปเหล็ก ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
บริษัทถือเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 เมื่อพิจารณาจากรายได้และขนาดของสินทรัพย์ โดยบริษัทเน้นงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งจากคุณสมบัติในการประมูลงานของบริษัท บริษัทตั้งเป้าจะประมูลโครงการภาครัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และโครงการรถไฟทางคู่
- การควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ บริษัทยังคงความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งด้วยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่ 19%-22% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา สูงกว่าผู้รับเหมาชั้นนำรายอื่น ๆ ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากการรวมศูนย์ต้นทุนไว้ที่ส่วนกลางซึ่งช่วยให้บริษัทรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุและการจัดซื้อ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัสดุอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามทำให้ต้นทุนมีความยืดหยุ่นด้วยการใช้ผู้รับเหมาช่วงจำนวนมาก โดยกลยุทธ์ดังกล่าวช่วยทำให้บริษัทมีต้นทุนคงที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากบริษัทสามารถลดหรือขยายการรับงานได้ตลอดช่วงวงจรของอุตสาหกรรมด้วยการปรับจำนวนงานรับเหมาช่วง แต่ในด้านลบ กลยุทธ์ดังกล่าวก็อาจทำให้บริษัทประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพเอาไว้ได้ท่ามกลางอัตรากำไรขั้นต้นที่แคบลง
- มีการกระจุกตัวของงานในมือในระดับสูง ความแข็งแกร่งของบริษัทถูกลดทอนจากการกระจุกตัวทางธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง โดยงานในมือของบริษัทประกอบไปด้วยโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการ โครงการขนาดใหญ่ที่สุด 3 โครงการแรกมีสัดส่วนประมาณ 80% ของมูลค่างานในมือของบริษัท ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดในการส่งมอบงานเพียง 1 โครงการหรือมากกว่า หรือเกิดเหตุขัดข้องที่มีนัยสำคัญที่ทำให้โครงการใดโครงการหนึ่งหยุดชะงักก็อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทได้
- กำไรอ่อนตัวลง
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากำไรของบริษัทจะยังคงถูกกดดันอย่างหนักจากงานในมือที่ลดต่ำลง บริษัทได้สัญญาใหม่ ๆ น้อยมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโดยมีสาเหตุหลักมาจากความล่าช้าของการเปิดประมูลงานภาครัฐ ซึ่งทำให้งานในมือของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.25 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จากระดับสูงสุดที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2560 ทั้งนี้ จากงานในมือในปัจจุบัน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีกำไรที่อ่อนตัวในปี 2564 โดยรายได้ของบริษัทน่าจะลดลงเหลือ 8.3 พันล้านบาทในปี 2564 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบหลายปี
นอกจากนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันประมูลงานที่เข้มข้น ความยากลำบากในการจัดการวัสดุและแรงงานในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (โรคโควิด 19) รวมถึงความล่าช้าของแผนงานก่อสร้างในบางโครงการ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 18% ในปี 2563 จากประมาณ 20% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 20% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญเป็น 1.7 พันล้านบาทในปี 2564
- ภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มสูงขึ้น สถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทรับงานก่อสร้างภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งมักจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความล่าช้าของโครงการ เช่น ความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ การแก้แบบของโครงการ การแก้ไขงานก่อสร้าง และอื่น ๆ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้สนับสนุนงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นส่งผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.48 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จาก 1.07 หมื่นล้านบาทในปีก่อนหน้า บริษัทมีลูกหนี้การค้าที่ยังไม่เรียกเก็บจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากโครงการรถไฟทางคู่และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สัญญาที่ 4 นอกจากนี้ บริษัทยังมีลูกหนี้การค้าจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอีกด้วย
เนื่องจากลูกหนี้การค้าที่คงค้างมาจากโครงการภาครัฐ ทริสเรทติ้งจึงมองว่าความเสี่ยงในการชำระเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่ระยะเวลาในการเก็บหนี้ที่ยาวนานก็สร้างภาระทางการเงินแก่บริษัทเช่นกัน โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 เท่าในปี 2563 จากในอดีตที่ 2-4 เท่า ซึ่งจากคาดการณ์ว่ากำไรน่าจะลดลง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะยังคงสูงกว่า 6 เท่าในปี 2564 นอกจากนี้ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้คาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ 980 ล้านบาทในปี 2564 ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน ๆ ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะลดลงเหลือประมาณ 9% ในปี 2564
- ความไม่แน่นอนอาจขัดขวางการฟื้นตัว ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองในด้านบวกต่ออุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในช่วงระยะปานกลางและเชื่อว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นรายจ่ายภาครัฐผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทจะฟื้นตัวได้ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้สัญญาก่อสร้างใหม่ 0.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้ให้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565-2566 อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะต่ำสุดที่ประมาณ 14% ในปี 2564 และฟื้นตัวขึ้นเป็น 18% เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะพยายามลดต้นทุนการดำเนินงานลงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ถูกดดัน โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 2.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565 และ 2566 ขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานจะฟื้นตัวและอยู่ในช่วง 1.6-1.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างและการชำระเงิน รวมถึงการปรับแบบระหว่างการก่อสร้างของโครงการภาครัฐขนาดใหญ่จะยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นเงินทุนหมุนเวียนจึงน่าจะยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะลดลงเหลือประมาณ 5 เท่าในช่วงปี 2565-2566 เมื่อกำไรฟื้นตัว อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 13%-14% ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี แม้ทริสเรทติ้งจะคาดหมายการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัท แต่ความล่าช้าในการเปิดประมูลโครงการภาครัฐและการแข่งขันที่เข้มข้นยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
- สภาพคล่องสามารถบริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดการกับสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม โดยหนี้สินประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดเป็นเงินกู้โครงการระยะสั้นจากธนาคารซึ่งจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นของระยะเวลาในการชำระหนี้ บริษัทมีหนี้ระยะยาวจำนวน 1.8 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในปี 2564 ประกอบไปด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารจำนวน 800 ล้านบาทและหุ้นกู้จำนวน 1 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารนั้นน่าจะใช้เงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2564 มาชำระได้ทั้งหมด ในขณะที่บริษัทวางแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อมาทดแทนหุ้นกู้จำนวน 1 พันล้านบาทที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทยังมีเงินสดและวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกันประมาณ 1.4 พันล้านบาทเป็นแหล่งสำรองด้วย
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่า ซึ่งบริษัทสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดเนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 1.9 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดช่วงประมาณการ
สมมติฐานพื้นฐาน
-บริษัทจะได้สัญญาโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ มูลค่า 0.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปี
-อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 14%-18%
-เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 1-1.5 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนการคาดการณ์ว่ากำไรและสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังคงถดถอยลงในปี 2564 เมื่อพิจารณาถึงมูลค่างานในมือในปัจจุบันและลูกหนี้การค้าที่ยังมีอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับหลังจากบริษัทได้สัญญาใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนต่าง ๆ อาทิเช่น ความล่าช้าในการเปิดประมูลโครงการภาครัฐ ตลอดจนการแข่งขันที่เข้มข้นยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความล่าช้าของโครงการ หรือต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงกว่าคาด หรือการจัดการด้านเงินทุนหมุนเวียนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่นในกรณีที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายยังคงสูงกว่า 5 เท่าโดยไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว นอกจากนั้น การได้สัญญาก่อสร้างใหม่ที่มีมูลค่าน้อยกว่าที่คาดไว้ก็อาจกระทบต่ออันดับเครดิตเช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "Stable" หรือ "คงที่" อาจเกิดขึ้นได้หากการจัดการด้านเงินทุนหมุนเวียนและความสามารถในการทำกำไรสอดคล้องกับการคาดการณ์และบริษัทได้สัญญาก่อสร้างใหม่ตามที่ตั้งเป้าไว้