นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า บริษัทยังมองทิศทางของตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจประเทศอื่นๆก็ตาม จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความสมดุล เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพิงเศรษฐกิจจากภายนอกมากกว่าที่มาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว โดยที่ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่ยังไม่มีความชัดเจนในการเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ ทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้มาก ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามยังคงต้องคาดหวังในเรื่องของการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศให้ทั่วถึงมากขึ้น โดยมองว่าการกระจายวัคซีนโควิด-19 ของคนในประเทศจะสามารถจะกระจายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 ซึ่งจะเป็นไปตามทิศทางเดียวกับจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนทั่วโลกที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ทำให้แนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ค่อยๆลดลงต่อเนื่อง และจะเป็นสัญญาณให้หลายๆประเทศเริ่มกลับมาเตรียมเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป รวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้ตลาดหุ้นจะมีการตอบรับปัจจัยบวกก่อนปัจจัยนั้นๆจะเกิดขึ้นจริง ส่งผลให้ดัชนีในช่วงครึ่งปีหลังยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ จากช่วงครึ่งปีแรกที่ปรับเพิ่มขึ้นมามากแล้ว
โดยการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันนั้นมาจากการที่นักลงทุนเริ่มเห็นการเริ่มทยอยกลับมาดำเนินธุรกิจในกลุ่มธุรกิจที่เป็น Old Economy ที่ผลการดำเนินงานเริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ปลายปี 63 ที่ผ่านมา และเป็นหุ้นที่ราคาได้ปรับลดลงมามากในช่วงที่เกิดโควิด-19 ทำให้นักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่เป็นกลุ่ม Growth Stock ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี มาสู่หุ้นกลุ่ม Old Economy ซึ่งตลาดหุ้นไทยมีหุ้นประเภทดังกล่าวอยู่มากทำให้ดัชนี SET ได้รับแรงหนุน ทำให้ในช่วงไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมาดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 7% และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไปทดสอบ 1,600 จุดแล้ว
ซึ่งมองว่าในช่วงที่เหลือของครึ่งปีแรกการปรับตัวขึ้นของดัชนี SET ยังอยู่ในกรอบจำกัดที่ 1,600-1,650 จุด เพราะภาพของเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า และมูลค่าของตลาดที่เริ่มตรึงตัวมี P/E ที่ค่อนข้างสูงที่ 20 เท่า และกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังไม่เติบโตขึ้นชัดเจน ทำให้ดัชนี SET ยังไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นต่อได้มากในครึ่งปีแรก แม้ว่าตลาดหุ้นไทยยังมีข้อจำกัดในการเติบโตอยู่บ้าง แต่กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเชิงรุก (Active Fund) จะโดดเด่นขึ้นมา เพราะผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเปลี่ยนและใช้กลยุทธ์เลือกหุ้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งกองทุนหุ้นไทยของ บลจ.ทิสโก้ล้วนแต่เป็นกองทุน Active Fund ที่ผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยในปีที่ผ่านมาก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ฝีมือในการเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุน
โดยมีกองทุนหุ้นไทยที่เป็นดาวเด่นของบลจ.ทิสโก้ ในปีที่ผ่านมา มี 2 กองทุน คือ 1. กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุน A (TSF-A) เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มั่นคง และมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่ดี กองทุนนี้มีจุดเด่นตรงที่เป็นกองทุนที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องกลยุทธ์การลงทุน สามารถลงทุนได้ทั้งหุ้นขนาดใหญ่ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกหุ้นด้วยวิธี Bottom Up จากนั้นจึงวิเคราะห์และคัดสรรจนเหลือหุ้นที่จะลงทุนเพียง 10-15 ตัว สามารถทำผลตอบแทนได้ 18.3% มากกว่าดัชนี SET TRI ที่เป็นดัชนีชี้วัด (Benchmark) ที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีอัตราผลตอบแทนติดลบ 5.24% ซึ่งกองทุน TSF-A สามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดได้มากกว่า 23%
2.กองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้ ชนิดหน่วยลงทุน A (TISCOMS-A) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท โดยผู้จัดการกองทุนจะใช้กลยุทธ์การเลือกหุ้นแบบ Bottom Up เป็นหลัก ประกอบกับใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณมาประยุกต์ในอีกทางหนึ่งเพื่อเพิ่มโอกาสผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งในปี 63 กองทุน TISCOMS-A มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 14.1% มากกว่าดัชนีชี้วัด SET TRI ที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีผลตอบแทนติดลบ 5.24% หรือสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 19%
อย่างไรก็ตามการจัดพอร์ตการลงทุนในหุ้นของนักลงทุนนั้น บลจ.ทิสโก้ยังคงแนะนำให้มีการลงทุนในหุ้นไทยสัดส่วน 30% เพื่อเป็นกระจายการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น Old Economy ที่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ต่อเนื่องและไม่มีความผันผวนมาก
และสัดส่วนการลงทุนอีก 70% ยังคงแนะนำให้กระจายการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่เป็นเทรนด์ในอนาคตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่นกลุ่มอุตสาหกรรม Health Tech หรือ Bio Technology ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์และร่างกายมนุษย์ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลรักษาสุขภาพของคนทั่วโลกที่เริ่มให้ความสำคัญ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมองไปอีกไม่เกิน 10 ปี แนวโน้มยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าจะมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในอนาคตกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ทำให้เป็นโอกาสของนักลงทุนในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของผลตอบแทนในระยะยาว
ส่วนการลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ทางบลจ.ทิสโก้ ไม่แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนมาก และแนะนำให้เป็นการลงทุนทางเลือก เพื่อช่วยในการปรับสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุน และช่วยลดความเสี่ยงในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง โดยการลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ในปัจจุบันถือว่าให้ผลตอบแทนที่ต่ำ จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน และหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มูลค่าของพันธบัตรและตราสารหนี้ก็จะลดลงจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่เข้ามาใกล้กัน ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนจากพันธบัตรและตราสารหนี้น้อยมากหรือมีโอกาสขาดทุนได้ จึงไม่แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนไปมาก แต่หากนักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบสม่ำเสมอจะแนะนำลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในการสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ