(เพิ่มเติม) THG ทุ่ม 300 ลบ.หนุนศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ ยกระดับผลิตสกัดกัญชง-กัญชาทางการแพทย์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 5, 2021 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) กับศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุนการเพาะปลูก วิจัย สกัด และตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพระดับ Medical Grade สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาพืชกัญชงและกัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯ พร้อมสนับสนุนด้านการจัดหาเทคโนโลยีในการจัดตั้งโรงสกัดสารจากกัญชาที่มีมาตรฐานในระดับการแพทย์ (Medical Grade)

"ในระยะแรก เรามุ่งไปที่การสนับสนุนด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยสนับสนุนการปลูก และการจัดตั้งโรงสกัดสารจากกัญชาที่ได้มาตรฐาน จากนั้นจะเป็นการขยายการปลูก และกำลังการผลิต คาดว่าโครงการนี้จะมีมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท โดยอาจมีพันธมิตรร่วมกันลงทุน โดยเชื่อว่าความร่วมมือนี้ จะเป็นประโยชน์กับการแพทย์ไทย ที่จะเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงทางเลือกในการรักษาโรค โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนภาควิชาการ เพิ่มขีดความสามารถการวิจัย ส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" นพ.บุญ กล่าว

นพ.บุญ กล่าวว่า ทาง THG วางงบสำหรับโครงการนี้ทั้งหมด 300 ล้านบาท เพื่อให้ทางจุฬาฯ สามารถดำเนินการเกี่ยวกับกัญชงได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยแบ่งเป็นสร้างโรงสกัดใช้งบ 100 ล้านบาท โดยจะมีการเพาะปลูกทั้งแบบกลางแจ้ง (Outdoor), แบบในพื้นที่ร่ม (Indoor) และแบบปลูกในโรงเรือน (Green House) ซึ่งคาดว่าจะสร้างโรงเรือน 4-5 โรงเรือน บนพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางวา ทั้งนี้ได้มีการทดลองปลูกและมีโรงเรือนแล้วรวม 1 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนกว่า 2,500 ต้น

ส่วนการสร้างแล็บเพื่อการทดสอบสารสกัดจากกัญชง ใช้งบประมาณอยู่ที่ 20-30 ล้านบาท ส่วนอื่นๆ จะเป็นงบสำหรับการทำวิจัย (R&D) เพื่อพัฒนาสายพันธุ์, การสนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูก, การสร้างโรงเรือน, การพัฒนาเทคโนโลยีการผสมและผลิต รวมไปถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ส่วนการดำเนินงานปลายน้ำ นพ.บุญ กล่าวว่า ทาง THG ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นการผลิตผ่านคณะเภสัช จุฬาฯ เพื่อขายผลิตภัณฑ์ให้เอกชนโดยเป็นการทำผลิตภัณฑ์ให้กับทางบริษัทต่างๆ (OEM) คาดว่าภายในสิ้นปีนี้หากสามารถออกผลิตภัณฑ์ได้จะสามารถสร้างรายได้กว่า 200-300 ล้านบาท

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาจะเน้นเรื่องการผลิตยาจากกัญชง เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ โดยจะเน้นการส่งออกมากกว่าการใช้ในประเทศ ทั้งนี้กัญชงมีสรรพคุณหลากหลายทั้งการช่วยให้ผ่อนคลาย ซึ่งสามารถช่วยในการนอนหลับ, บรรเทาอาการปวด, ลดอาการอักเสบ รวมถึงสามารถรักษาโรคผิวหนัง และโรคชักบางชนิดได้ด้วย

ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวถึงการดำเนินงานของทางจุฬาฯ ว่า ขณะนี้กำลังทำจดหมายเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศทั้งหมด 4 เมล็ดพันธุ์ จากทั้งหมด 4 ประเทศ เพื่อนำมาทดลองปลูกในไทย โดยราคาต่อหนึ่งเมล็ดตกอยู่ที่ 18-19 บาท ซึ่งหากสายพันธุ์ที่จะสั่งซื้อตรงกับใบอนุญาตที่จุฬาฯ มีอยู่แล้ว 7 ใบก็จะสามารถสั่งซื้อได้เลย หากไม่ตรงก็จะมีการดำเนินการขอใบอนุญาตต่อไป ทั้งนี้หากการสั่งซื้อสำเร็จจะสามารถดำเนินการปลูกได้ภายใน 4 เดือน และจะใช้เวลาในการพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยทั้งหมด 8 เดือน

ทั้งนี้ทางจุฬาฯ ได้มีการทดลองปลูกกัญชงแล้ว 1 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดที่ทางจุฬาได้รับ 14 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี กำลังอยู่ในกระบวนการศึกษาปริมาณสารที่ได้จากต้นให้มีความคงที่ ทั้งนี้การดำเนินการปลูกกัญชงโดยไม่ใช้สารเคมีทำได้ค่อนข้างยาก จากปัจจัยหลายอย่างทั้งการดูดซึมของรากที่สามารถดูดซึมได้เร็ว จึงอาจมีสารปนเปื้อนอย่างโลหะหนักได้ หรือต้นกัญชงที่มีกลิ่นดึงดูดแมลงต่างๆ ก็อาจสร้างความเสียหายแก่พืชได้เช่นกัน

ส่วนในอนาคตหากมีการปรับปรุงสายพันธุ์อาจต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินงานเพิ่ม สำหรับการดำเนินงานในส่วนกลางน้ำ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างที่ทาง THG ให้จุฬาฯ เลือกโรงกลั่นที่ได้มาตรฐานจากประเทศต่างๆ เช่นจากอเมริกา แคนาดา อิสราเอล เยอรมัน รวมถึงอยู่ในกระบวนการศึกษาวิธีสกัดสารด้วย

สำหรับการสนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูกต้นกัญชง เป็นความร่วมมือแบบ Contact Farming ซึ่งในวันที่ 29 เม.ย.นี้ได้มีการเรียกประชุมกับตัวแทนของแต่ละจังหวัดทั้งหมด 30 คน เพื่อให้ความรู้ในการปลูกกัญชง และจะมีต้นแบบโรงเรือนแบบง่ายๆ เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องลงทุนสูงมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ