บมจ.บลิส-เทล (BLISS) ยอมรับยากจะหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง (IEC)ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพราะหาบริษัทที่ปรึกษาการเงินในการประเมินการเข้าซื้อสินทรัพย์ของ IEC ไม่ได้ แต่จะพยายามหาแนวทางเสนอคณะกรรมการบริษัททั้ง BLISS และ IEC ก่อนสิ้นปี
"ดูแล้วจบยาก เพราะหาคนกลาง(บริษัทที่ปรึกษา)ไม่ได้ เราก็พยายาม ..ในสิ้นปีนี้ คงต้องหาแนวทางอื่นเพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อคณะกรรรมการ ทั้งสองบริษัท ซึ่งต้องเป็นแนวทางที่ fair และยอมรับได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าหากคณะกรรมการทั้งสองบริษัทยอมรับได้ ทางตลาดฯยอมรับได้หรือไม่ คือปัญหาเยอะแยะ" นายอรรถวิชญ์ เอกธนิตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ BLISS กล่าว
อย่างไรก็ตามในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้ง BLISS และ IEC ได้พยายามขจัดความขัดแย้ง โดย BLISS ลดการขายส่งเพื่อให้ทางIEC ขายส่งมากขึ้น ส่วนเรื่องขายปลีกราคาขายของทั้งสองบริษัทจะกำหนดใกล้เคียงกันเพื่อไม่ให้ตัดราคากันเอง ขณะเดียวกัน ทาง IEC ลดจำนวนร้านค้าปลีกลงเหลือประมาณ 40-42 แห่งจากเดิมมีอยู่กว่า 100 แห่ง โดยเฉพาะในจุดเดียวกับร้านค้า BLISS เพื่อลดความขัดแย้งลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ทั้งสองบริษัทยังใช้ระบบ back office ,คลังสินค้า ,การจัดส่ง และ ศูนย์ซ่อม ร่วมกัน และสำนักงานก็อยู่ใกล้กัน ซึ่งช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัททั้งสองแห่ง
"เราค่อยๆพยายามทำทีละนิด ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่ไม่มีอะไรคืบหน้า ผมว่าค่อนข้างมีความคืบหน้าเยอะ" นายอรรถวิชญ์กล่าว
นายอรรถวิชญ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ BLISS พยายามอย่างเต็มที่ในการเข้าซื้อสินทรัพย์ไออีซี โมบาย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ IEC ที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ไม่สำเร็จ ขณะที่มีแรงกดดันจากหลายด้าน ประเด็นสำคัญเป็นเพราะไม่สามารถหาที่ปรึกษาที่เป็นคนกลางเข้ามาช่วยประเมินสินทรัพย์ได้ เมื่อหาไม่ได้ก็พยายามทำเรื่องอื่นโดยปรับนโยบายให้ขัดแย้งกันน้อยลง
"เราตกลงราคากันไม่ได้ ถ้าไม่มีคนกลาง เพราะเราเองก็อยากซื้อถูก แต่เขาขายแพง และต้องเป็นราคาที่ ตลาด และก.ล.ต.ยอมรับได้ด้วย จากก่อนหน้านี้ได้ให้ทางที่ปรึกษาทำราคาประเมินมา สุดท้ายก็มีปัญหา เพราะทางตลาดและก.ล.ต.บอกว่ายังไมดีพอ จนที่ปรึกษาลาออก" นายอรรถวิชญ์ กล่าว
*เพิ่มธุรกิจใหม่คาดเปิดตัวได้ไตรมาส 4/50
นายอรรถวิชญ กล่าวว่า ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในปีนี้ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น หรือมาร์จินลดลงจากปีก่อน แม้บริษัทจะพยายามลดค่าใช้จ่ายจากการร่วมใช้ทรัพยากรร่วมกันกับ IEC แต่ก็ลดลงได้ไม่มากนัก
ทั้งนี้ ในปี 49 บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นระดับ 0.86% ลดลงจาก 4.94% ในปี 48
ดังนั้น บริษัทจึงได้พยายามคิดหาธุรกิจใหม่มาเพิ่มรายได้ คิดว่าธุรกิจใหม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อสาร จากปัจจุบันที่ขายโทรศัพท์มือถืออย่างเดียว โดยอาจจะเพิ่มการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ในกลุ่มสื่อสาร เช่น กล้องดิจิตอล เป็นต้น
"ผมมองว่าธุรกิจสื่อสาร เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ คำว่า สื่อสาร ไม่ใช่อยู่ที่ตัวมือถืออย่างเดียว เพราะฉะนั้นอะไรที่เกี่ยวกับสื่อสาร ถ้าหากเรามีโอกาสที่คว้าได้ เนื่องจากเราเป็นบริษัทมหาชนน่าจะทดลองคว้ามาทำดู ช่วงนี้เกิดโครงการขึ้นมาอยากให้เป็นไปได้ในไตรมาส 4 แต่ก็ขึ้นอยู่กับโอกาส"นายอรรถวิชญ์ กล่าว
คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือ น่าจะช่วยให้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น
อนึ่ง ในไตรมาส 2/50 บริษัทมีรายได้จากการขาย 832.81 ล้านบาท ลดลง 52.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กำไรสุทธิ 77.8 ล้านบาทดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 293.1 ล้านบาท
แต่ในงวด 6 เดือนบริษัทมีกำไรสุทธิ 10.9 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 292.5 ล้านบาท
ราคาหุ้น BLISS และ BLISS-W1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย BLISS ปิดที่ 5.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.45 บาท หรือ +8.74% ขณะที่ BLISS-W1 ปิดที่ 1.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ +9.09%
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--