นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แถลงเปิด "โครงการ HAPPY MONEY สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย" โดยเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินของทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อจัดทำโครงการปฏิบัติการรวมพลัง สร้างคนไทยใส่ใจเรื่องการเงิน ในการรองรับชีวิตหลังวัยเกษียณ เพื่อตอบโจทย์การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
ทั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของทางภาครัฐ คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่จำเป็น เพิ่มความรู้ด้านการเงินและการออม รวมถึงการเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมเชิงบวกต่อเรื่องการเงิน และการออม เพื่อลดปัญหาการเงินในครัวเรือน ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน
นายกฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้างานสายพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในปี 76 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทั้งหมด 28% ของประชากร ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน สอดคล้องกับที่ รมว.คลัง ระบุว่าจากข้อมูลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยปี 60 ส่วนใหญ่งหลังเกษียณยังต้องพึ่งพาบุตรหลาน 34.7% ต้องทำงานเลี้ยงตนเอง 31% และมีเพียง 2.3% ที่สามารถพึ่งตนเองจากรายได้เงินออม สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยอาจเจอภาวะเกษียณทุกข์ในอนาคต
"จากผลการสำรวจการออมภาคครัวเรือนของไทยในไตรมาส 3/61 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือ 27.1% ไม่มีเงินออม ส่วนครัวเรือนที่มีการออมเงินมี 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาวิธีการออม คนไทย 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม และ 38.5% มีพฤติกรรมออมเงินแบบไม่แน่นอน ที่เหลืออีก 22.6% คือคนไทยที่มีพฤติกรรมออมก่อนใช้"
นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า คนในช่วงวัยแรงงานในปัจจุบันจำเป็นต้องออมเงินเพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยชุดความรู้และทักษะขั้นพื้นฐาน เพื่อขจัดปัญหาการเงิน ได้แก่ 1.หมดหนี้มีออม 2.ลงทุนเพิ่มค่า และ3. วางแผนก่อนแก่ และเพื่อสร้างความสุขทางการเงินอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือแรงงานในระบบ 14 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน นักศึกษา 1.7 ล้านคน และประชาชนทั่วๆ ไป
ทั้งนี้มีกระบวนการในการสร้างความสุขทางการเงินทั้งหมด 3 ขั้นตอน ที่จะร่วมมือกันกับทั้ง 3 องค์กรทั้ง กอช. , กบข. และกยศ. คือ 1.Education ให้ความรู้ในการวางแผนการเงินและการลงทุน 2.Happy Money Trainers พัฒนาเทคนิคการเป็นพี่เลี้ยงทางการเงิน และ 3.Consultation ให้คำปรึกษาและติดตามผลลูกค้าจริง โดยทั้ง 3 ขั้นตอนเป็นการเปลี่ยนทัศนคติ และปรับพฤติกรรมทางการเงิน เพื่อให้ค่าใช้จ่าย และหนี้สินลดลง รวมถึงมีเงินออมที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความร่วมมือจากทั้ง 3 องค์กรแล้ว ยังมีองค์กรภาคีเครือค่ายอีกทั้งหมด 523 องค์กรด้วย
ทางด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นต้นน้ำ ปัจจุบันพยายามให้นักเรียน นักศึกษาสามารถเข้าถึงการกู้เงินเพื่อการเรียนได้ง่ายและมากขึ้น เพื่อให้สามารถมีความรู้ในการประกอบอาชีพและมีเงินออมเพื่อเลี้ยงตนเองในอนาคตได้ โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างความสะดวกสบาย รวมถึงออกมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งลดเบี้ยปรับ 100%, ลดเบี้ยปรับ 80%, ลดเงินต้น 5% และลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี พร้อมกันนี้ทางกยศ. ยังร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการสร้างแหล่งความรู้ด้านการเงินด้วย
ด้านนางศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือให้ความรู้เรื่องการลงทุนที่ไม่ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป เนื่องจากไม่มีสินทรัพย์ชนิดไหนที่จะสร้างผลตอบรับที่เท่ากันทุกปี โดยแบ่งเป็นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ กบข., การให้ความรู้เรื่องการออมเงินเพิ่ม และการลงทุน รวมถึงการให้ความรู้เรื่องหลักทรัพย์ต่างๆ
ทั้งนี้ กบข. ยังได้ทำความร่วมมือกับ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อเป็นการกำหนดนโยบายจากเครือข่ายด้านการเงินในระดับนานาชาติ และใช้กรอบพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อสร้างการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และพัฒนาความรู้ให้ประชาชน โดยในปี 63 สมาชิกได้รับผลตอบแทนแผนหลักที่ 4.79% โดยมีการบริหารการลงทุนโดยการวางพอร์ตที่คำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนระยะยาว (SAA)
ทางด้านนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช.แนะนำประชาชนให้มีการลงทุนกับทางกอช.ตั้งแต่อายุ 15-25 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการทำงาน เพื่อที่จะสามารถออมเงินได้ตั้งแต่เด็กๆ เพื่อให้ในอนาคตสามารถได้รับเงินบำนาญที่มีจำนวนที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย โดยออมเงินสูงสุดปีละ 13,200 บาท ทั้งนี้เป็นการออมเงินที่คุ้มค่ากว่าการฝากธนาคาร เนื่องจากสามารถรับเงินสมทบจากทางรัฐบาลได้ด้วย
ปัจจุบันระยะการจัดพอร์ตระยะยาว (SAA) อยู่ที่หุ้นละไม่เกิน 7% เป็นการให้สมาชิกมาลงทุน โดยทางกอช. จะนำเงินมาบริหารให้เงินงอกเงยขึ้นจากทั้งส่วนของรัฐ และส่วนเงินออม ส่วนผลตอบแทนเฉลี่ย 2-3% ต่อปี