นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า กรมบังคับคดีได้กำหนดวันประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทยในวันที่ 12 พ.ค.64 หากเจ้าหนี้ไม่โหวตแผนฟื้นฟูกิจการ ก็คาดว่า 1-2 เดือนกิจการการบินไทยก็คงไม่รอด
หากเจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟูฯ จะทำให้บริการมีเม็ดเงินใหม่ใส่เข้ามาเพื่อให้สามารถดำเนินการฟื้นฟูธุรกิจตามแผนงานที่จะเริ่มทำการบินในเส้นทางต่างประเทศในไตรมาส 4/64 จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มความถี่และเส้นทางการบิน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งจากการระบาดโควิด-19 สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ แต่ราคาน้ำมันยังไม่สูงขึ้นมากนัก
"ถ้าเจ้าหนี้ไม่โหวตรับแผน เราก็ไม่รอด ใน 1-2 เดือน แต่ถ้าโหวต ก็จะมีเงินใหม่เข้ามา มีโอกาสรอดสูง ถ้าโควิดไม่ยาวออกไป 2-3 ปี" นายชาญศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ หากมีการโหวตรับแผนฟื้นฟูการบินไทยในวันที่ 12 พ.ค.แล้ว ขั้นตอนต่อไป ศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนแผนฟื้นฟูที่ผ่านการโหวตจากที่ประชุมเจ้าหนี้มาพิจารณาและมีคำสั่งรับแผนจากนั้นลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่หากมีผู้คัดค้านก็ต้องไต่สวนอีกครั้ง
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทต้องการระดมเงินทุนราว 5 หมื่นล้านบาทที่คาดว่าจะมาจากใส่เงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นเดิม และเจ้าหนี้ที่จะมีการแปลงหนี้เป็นทุน หรือให้เงินกู้ก้อนใหม่ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้นำแผนฟื้นฟูฯ ไปพิจารณาแล้ว โดยเฉพาะ กระทรวงการคลัง ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ รวมทั้งเป็นผู้ค้ำประกันการซื้อและเช่าเครื่องบิน นอกจากนี้ ยังมี บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ กรมศุลกากร ก็มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วย
รายงานจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา THAI ภายหลังจากที่เข้าแผนฟื้นฟูฯ ภายใต้กระบวนการของศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จและถูกทาง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าร่วมประชุมด้วย