นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ว่า ในการก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารนั้น ทอท.ได้เซ็นสัญญาจ้างสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ศึกษาทบทวน และ IATA ได้ทำรายงานฉบับแรกเสร็จแล้วเมื่อเดือนเม.ย. 64
ส่วนองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อยู่ระหว่างการเซ็นสัญญาจ้างศึกษาทบทวน ซึ่งคาดว่าจะนำข้อสรุปเสนอคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 29 เม.ย. แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงเลื่อนการประชุมออกไป แต่คาดว่าจะไม่เกินเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ ทอท.ได้ข้อสรุปและมีการวิเคราะห์จาก IATA คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับเป็นปกติในปลายปี 66 ที่ราว 60 ล้านคน/ปี
นายกีรติ กล่าวว่า ทอท.จะเสนอแนวทางการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ โดยก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันออกและด้านตะวันตก (East & West Expansion) และ อาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ทั้ง 3 โครงการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเป็น 120 ล้านคน/ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับขีดความสามารถของรันเวย์ 3 เส้นพอดี
โดยจะมีการปรับรูปแบบการใช้พื้นที่ใหม่ ใช้อาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศรองรับได้ 30 ล้านคน/ปี (จากเดิมใช้รองรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ) ส่วนอาคารผู้โดยสารเดิมและส่วนต่อขยายตะวันออกและตะวันตกจะใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศทั้งหมดมีขีดรองรับรวม 75 ล้านคน/ปี
ทั้งนี้ การปรับอาคารด้านเหนือรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้สามารถลดขนาดอาคารและพื้นที่ใช้สอย 20% และไม่ต้องก่อสร้างรถไฟฟ้าไร้คนขับ APM เพื่อขนส่งผู้โดยสารเพื่อเข้าไปยังอาคารเทียบเครื่องบินแต่อย่างใด ส่งผลให้วงเงินลงทุนอาคารด้านเหนือลดลงจาก 41,260 ล้านบาท เหลือ 28,000-30,000 ล้านบาท หรือลดลง 30%
เมื่อรวมกับการขยายอาคารด้านตะวันตกและตะวันออกที่มีค่าก่อสร้างด้านละประมาณ 7,830 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินลงทุน 3 อาคารประมาณ 46,000 ล้านบาท โดยมีขีดความสามารถในการรองรับรวม 60 ล้านคน/ปี รวมกับอาคารผู้โดยสารเดิม และอาคาร SAT1 สุวรรณภูมิจะรองรับได้ 120 ล้านคน/ปี
นอกจากนี้ จะมีลงทุนร่วมกับทางแอร์พอร์ตลิงก์เพื่อสร้างสถานีเพิ่มหน้าอาคารผู้โดยสารด้านเหนือ พร้อมทางเชื่อมเข้าอาคารลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาท ถูกกว่าก่อสร้าง APM จำนวน 2 สายตามแผนเดิม
นายกีรติ กล่าวว่า ทอท.มีความพร้อมที่จะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันออก เนื่องจากได้รับอนุมัติโครงการแล้ว มีเงินลงทุนและมีการออกแบบเสร็จแล้ว อีกทั้งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรทางวิชาชีพต่างๆ
ส่วนโครงการ ซิตี้ การ์เด้น ที่ตั้งอยู่ในจุดที่จะมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออกนั้น ทอท.ได้มีหนังสือถึงกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ให้ทำการรื้อถอนให้แล้วเสร็จ ภายในเดือน ก.ค.64 ดังนั้น คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออกได้ภายในปลายปี 64 ขณะเดียวกันจะเร่งออกแบบอาคารด้านตะวันตกและอาคารด้านเหนือคู่ขนาน คาดว่าใข้เวลาประมาณ 8 เดือน เปิดประมูลก่อสร้างในปี 65 แล้วเสร็จในปี 67