วัตถุประสงค์ในการระดมเงินทุนในครั้งนี้เพื่อก่อสร้างห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุมด้านงานการเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์เพื่อการรักษา (Cell Therapy) รวมทั้งชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
WINMED เป็นผู้นำในด้านการจำหน่ายชุดตรวจเพื่อการวิเคราะห์ วินิจฉัย และ/หรือ บำบัดรักษา รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจมากว่า 24 ปี ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งธุรกิจของบริษัทถือว่าเป็นธุรกิจเฉพาะทางที่มีความจำเป็นในทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นเครื่องการันตีถึงคุณภาพสินค้าว่ามีมาตรฐานในระดับสูง
"ด้วยความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัท จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับวินเนอร์ยี่ เมดิคอล และสามารถรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และเมื่อเข้าตลาดแล้วจะยิ่งตอกย้ำความตั้งใจของผู้บริหารที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับองค์กรตลอดไป"นายสมศักดิ์ กล่าว
นายนันทิยะ ดารกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WINMED กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือ และความไว้วางใจจากลูกค้ามากยิ่งขึ้น ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้นบริษัทจะนำไปเพื่อก่อสร้างห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ผ่านชุดเก็บเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก จากช่องคลอดด้วยตนเอง (Self Collect) และก่อสร้างห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุมด้านงานการเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์เพื่อการรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัด (Cell Therapy)
ขณะเดียวกัน บริษัทจะลงทุนห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ผ่านชุดเก็บเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก จากช่องคลอดด้วยตนเอง (Self Collect) คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เข้ามาให้กับบริษัทได้ภายในไตรมาส 3/64 และการลงทุนห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุมด้านงานการเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์เพื่อการรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัด (Cell Therapy) คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทเข้ามาได้ในช่วงไตรมาส 1/65
ผลประกอบการของบริษัทในปี 63 มีการกระจายสัดส่วนรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในระดับที่สมดุลกัน โดยที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรี มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 29.43% กลุ่มธนาคารโลหิต มีสัดส่วนรายได้ 31.76% กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลความปลอดภัยโลหิต มีสัดส่วนรายได้ 33.6% และส่วนที่เหลือเป็นสัดส่วนรายได้ผลิตภัณฑ์เทคโยโลยี โดยในปี 63 บริษัทมีรายได้รวม 531.05 ล้านบาท กำไรสุทธิ 51.59 ล้านบาท
กลุ่มลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและสภากาชาดไทย ที่มีสัดส่วนมากถึง 75% ทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่าจะมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และอีก 25% เป็นกลุ่มลูกค้าเอกชน
นอกจากนี้ การที่บริษัทจะนำเงินระดมทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO ส่วนหนึ่งไปใช้ชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน จะทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 1.6 เท่า จากก่อนเสนอขาย IPO อยู่ที่ 2 เท่า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้มากขึ้น
"เรามีความมั่นใจหลังจากที่เข้าตลาดแล้วจะผลักดันการเติบโตของธุรกิจขึ้นไปต่อเนื่อง จากประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจมากกว่า 24 ปี ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งธุรกิจของบริษัทถือว่าเป็นธุรกิจเฉพาะทางที่มีความจำเป็นในทางการแพทย์ และมีโอกาสที่จะเติบโตในทิศทางที่ดี"นายนันทิยะ กล่าว