นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการอนุมัติแบบไฟลิ่งของ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 140 ล้านหุ้น กำหนดราคาเสนอขายที่ 16.00 บาทต่อหุ้น พร้อมเปิดให้จองซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 26-28 เม.ย.64 และคาดว่าจะนำหุ้น DMT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในวันที่ 7 พ.ค.นี้
ทั้งนี้ DMT จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้ ซึ่งจะทำให้ DMT ไม่มีหนี้สินที่มีภาระต้นทุนทางการเงิน ทำให้ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีตามการเติบโตของผลการดำเนินงาน โดยมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรสุทธิภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย
ปัจจุบัน DMT มีทุนจดทะเบียนจำนวน 6,142.4 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 5,414.4 ล้านบาท และมีจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วก่อนการเสนอขาย IPO ทั้งหมด 1,041.2 ล้านหุ้น โดยบริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 140 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 11.85% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นครั้งนี้ โดยได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 5 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด
นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ DMT กล่าวว่า บริษัทฯ จะนำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการโครงการทางยกระดับดอนเมืองที่มีมานานกว่า 30 ปี เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐ ช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาวและสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทฯ อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายก้าวสู่ผู้นำการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย สนับสนุนการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว โดย DMT ให้ความสนใจพัฒนาและบริหารโครงการใหม่ ๆ จากนโยบายภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนและบริหารโครงการทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ ตามแผนระยะ 20 ปี (2560-2579) เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย บางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย นครปฐม-ชะอำ (M8) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) โครงการทางพิเศษสาย กะทู้-ป่าตอง โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอัตราภิมุขช่วง รังสิต-บางปะอิน (M5) เป็นต้น รวมถึงแผนขยายการให้บริการไปสู่ธุรกิจหรือโครงการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางด่วนและทางพิเศษ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น โครงการจุดพักริมทางหลวงพิเศษและทางหลวงสัมปทาน (Rest Area) เป็นต้น
"เรามีเป้าหมายต้องการเป็นผู้นำการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย โดยนำความเชี่ยวชาญการบริหารโครงการทางยกระดับและทีมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อขยายงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายภาครัฐที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน รวมถึงขยายไปสู่ธุรกิจหรือโครงการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางด่วนและทางพิเศษ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคน " นายธานินทร์ กล่าว