นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ บมจ.เซนต์เมด (SMD) กล่าวว่า SMD คาดว่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชนเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าซื้อขายในตลาดหลักรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงกลางปี 64
SND มีแผนจะเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 54 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25.23% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท วัตถุประสงค์ของการระดมทุนเพื่อใช้ดำเนินโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับ ลงทุนในเครื่องมือแพทย์ให้เช่า ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินกิจการ และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน
จุดเด่นของ SMD มาจากศักยภาพเติบโตสูงจากข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขัน จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจมายาวนาน ได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นโอกาสรุกขยายธุรกิจอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดรับแผนลงทุนกลุ่มโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มความสามารถการให้บริการทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในช่วงปี 64-65 คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการทางการแพทย์รองรับนโยบายผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) อีกด้วย ทำให้โอกาสการเติบโตของ SMD ยังเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปัจจัยบวกจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้มมีความต้องการซื้อหรือเช่าเครื่องมือแพทย์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของโรงพยาบาลภาครัฐ อีกทั้งตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยยังถือเป็นตลาด Blue Ocean ที่มีการแข่งขันน้อย โดยมีบริษัทที่ถือครองส่วนแบ่งตลาด (Market share) เพียง 4 ราย ทำให้รายได้ของ SMD ยังสามารถเติบโตได้ ไม่มีแรงกดดันในการแข่งขันด้านราคาเข้ามา อีกทั้งยังมีโอกาสขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต
นายวิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจในการเติบโตในอนาคตของธุรกิจ จากวิสัยทัศน์ในการมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะด้านระบบการหายใจ และช่วยชีวิต เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยนำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจมานานกว่า 20 ปี และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลมาช่วยดูแลคนไทยให้ปลอดภัยและมีสุขภาพดี รองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสังคมแห่งการดูแลสุขภาพ
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกกว่า 30 รายที่ช่วยให้ SMD มีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดีเหนือคู่แข่งและสนับสนุนแผนงานการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่รองรับฐานลูกค้าในอนาคต รวมถึงการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากทีมบริการหลังการขายที่มีความชำนาญและความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ต่อยอดสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การให้บริการให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อสร้างรายได้ประจำ และการร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่ง ดำเนินโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับ เนื่องจากปัจจุบันคนไทยได้ตระหนักถึงอันตรายจากการนอนกรนและหยุดหายใจในขณะนอนหลับมากขึ้น
ปัจจุบันรายได้หลักของ SMD ถึง 75% ของรายได้รวม มาจากการขายและให้เช่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือชีวิตและเครื่องมือในห้อง ICU ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้ในห้อง ICU และห้องฉุกเฉิน ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ที่ 40% และเครื่องมือช่วยหายใจ 35%
แม้ว่ากลุ่มลูกค้าในปัจจุบันจะมีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่โควิด-19 เข้ามากระทบ ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงพยาบาลและหน่วยงานภาครัฐมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 70% จากก่อนหน้าที่ 40% และสัดส่วนลูกค้าโรงพยาบาลเอกชน นิติบุคคล และบุคคลทั่วไป ลดลงเหลือ 30% จากเดิมอยู่ที่กว่า 40% เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนชะลอการลงทุนในระยะนี้ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐและหน่วยงานภาครัฐมีงบประมาณที่ต้องใช้ประจำปีอยู่แล้ว จึงห้เข้ามาชดเชยรายได้ของกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลเอกชนที่หายไปได้
อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ยังคงมาจากรายได้จากการขายในสัดส่วนที่มากถึง 97% ของรายได้รวม และรายได้จากการบริการอยู่ที่ 3% ของรายได้รวม โดยที่บริษัทยังมองไปถึงการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของการบริการให้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นรายได้ประจำที่จะเข้ามารองรับการเติบโตที่แน่นอนให้กับบริษัท และทำให้บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงของรายได้มากขึ้น
นายกำพล ชัยสุภัคสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าฝ่ายบัญชีและการเงิน SMD กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 61-63) บริษัทมีรายได้รวมเติบโตราว 14% ต่อปี และในปี 63 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 660 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทตั้งเป้ารายได้ในช่วง 3 ปี (ปี 64-66) เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี ซึ่งยังคงเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการขยายเตียงสำหรับตรวจการนอนหลับ ซึ่งวางแผนขยาย 8 เตียง/ปีในช่วงปี 64-66 ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้มากขึ้น และเพิ่มเครื่องมือแพทย์เข้ามาให้บริการ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ในเบื้องต้นปี 64 บริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 100-150 ล้านบาท สำหรับเพิ่มเตียงตรวจการนอนหลับอีก 4 เตียง ใช้เงินลงทุนราว 25 ล้านบาท/เตียง และจะใช้เงินบางส่วนซื้อเครื่องมือแพทย์อื่นๆเข้ามารองรับการบริการเพิ่มเติม โดยที่บริษัทยังคงเจรจากับลูกค้าทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในการขายและให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากเข้าระดมในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) แล้วจะผลักดันให้บริษัทมีความสามารถและศักยภาพในการขยายธุรกิจสร้างการเติบโตในระยะยาวได้เพิ่มขึ้น