ฟิทช์ คงอันดับเครดิต PTT ที่ระดับ BBB+/AAA(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 26, 2021 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ.ปตท. (PTT) ที่ระดับ ?BBB+? และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ?AAA(tha)? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการออกหุ้นกู้ (Medium-Term Debenture Program) มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกินสี่หมื่นสี่พันล้านบาท ที่ ?AAA(tha)?

อันดับเครดิตของ ปตท. สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ระดับ ?bbb+? ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย (?BBB+? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ อันดับเครดิตของ ปตท. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากสถานะเครดิตโดยลำพังของ ปตท.ถูกปรับลงในอนาคต ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์ โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม สถานะเครดิตโดยลำพังของ ปตท. สะท้อนถึงความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

  • ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ในระดับสูง: ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับปานกลาง โดยรัฐบาลถือหุ้นโดยตรงในปตท. ในสัดส่วนร้อยละ 51 และมีส่วนในการคัดเลือกคณะกรรมการบริษัทฯ แต่ภาครัฐฯ มีแนวโน้มที่จะให้ ปตท. ดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทฯ เนื่องจากปตท. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ปตท. ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ เนื่องจากปตท. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่ปตท. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่องจาก ปตท. เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติรายเดียวให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าของภาครัฐฯ และก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ฟิทช์คาดว่าน่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืม และต้นทุนทางการเงินของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ด้วย เนื่องจาก ปตท. ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ ที่มีการกู้เงินและออกหุ้นกู้ในประเทศไทย

  • ผลประกอบการที่คาดว่าจะดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หลังจากมีการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น น่าจะทำให้ผลประกอบการของ ปตท. ปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แม้ว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ จะต้องใช้เวลาในการปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย โดยธุรกิจสำรวจและผลิตของกลุ่ม ปตท. มีสัดส่วนปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 67 ของปริมาณการขายทั้งหมด ฟิทช์ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันในปี 2564 เพื่อสะท้อนถึงการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันที่มากกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงความร่วมมือของผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปค ที่จะควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมัน ราคาน้ำมันที่สูงกว่าที่คาดในปี 2563 ช่วยสนับสนุนให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ ปตท. ลดลงต่ำกว่าที่ฟิทช์คาดอีกด้วย
  • การซื้อกิจการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม: การเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 20 ในโครงการ Oman Block 61 ของบมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) (ปตท.สผ.; อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) น่าจะช่วยทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาสถานะการดำเนินธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทฯ คาดว่าการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนนี้ จะทำให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2565 จากปี 2563 และเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียม นอกจากนี้ การเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนนี้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยโดยเฉลี่ย เพิ่มความสม่ำเสมอในการทำกำไร และเพิ่มการกระจายตัวของสินทรัพย์ ให้กับ ปตท.สผ. ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจาก โครงการ Oman Block 61 ถูกจำหน่ายให้กับหน่วยงานในสังกัดของรัฐบาลโอมาน (อันดับเครดิต BB- แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ภายใต้สัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay ด้วยโครงสร้างราคาที่กำหนดไว้
  • ความสามารถในการรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น: อัตราส่วนหนี้สินของ ปตท. ที่ต่ำกว่าที่คาดในปี 2563 น่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2564-2565 ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ของปตท. จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8 เท่าถีง 2.0 เท่าในปี 2564-2565 (ปี 2563 อยู่ที่ 1.8 เท่า) ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนของ ปตท. และบริษัทย่อย น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3 แสนล้านบาท (รวมเงินสำหรับการเข้าซื้อกิจการ) ในปี 2564 จากปี 2563 ที่ใช้เงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะได้รับการลดทอนบางส่วนจากการได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
  • ธุรกิจพลังงานใหม่: ปตท. มีแผนที่จะกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจพลังงานใหม่ๆ เช่นพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน สถานีชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Platform) โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจำนวน 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ปตท. วางแผนที่จะลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของแผนเงินลงทุนในปี 2564-2573 นอกเหนือจากแผนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ A+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 ของแผนเงินลงทุนปี 2564-2568 อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานใหม่นี้น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างน้อยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซที่มีความสม่ำเสมอ: สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งได้แก่ธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่มีความมั่นคง และสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ กำไรจากธุรกิจโรงแยกก๊าซและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่า เนื่องจากการปรับราคาของต้นทุนก๊าซธรรมชาติตามสัญญาการซื้อขายระยะยาว จะช้ากว่าการปรับราคาของราคาผลิตภัณฑ์

ฟิทช์คาดว่า ปตท. จะยังคงเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย แม้ว่าการแข่งขันในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) จะเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลจะอนุญาตให้บริษัทอื่นๆ นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้าเหล่านี้จะถูกจัดจำหน่ายแก่ผู้ใช้ ผ่านสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบัน ปตท. เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว โดย ปตท. จะคิดค่าบริการตามที่หน่วยงานกำกับธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำหนด นอกจากนี้ การที่ปตท. มีสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวกับผู้ผลิตในต่างประเทศ และมีประวัติการดำเนินงานในธุรกิจนี้อยู่แล้ว น่าจะทำให้บริษัทฯ มีความได้เปรียบในการแข่งขัน ฟิทช์คาดว่าผลกระทบต่อ ปตท. ทางการเงินในระยะสั้นจากการแข่งขันในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวที่เพิ่มมากขึ้น ยังมีไม่มากนัก

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

ปตท. เป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติขั้นกลางและขั้นปลายเพียงรายเดียว เป็นหนึ่งในบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS, อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากระดับที่ภาครัฐฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินงานของ ปตท. ที่น้อยกว่า ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับของ PETRONAS โดยแม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัททั้งสอง เนื่องจากมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะสนับสนุนทางการเงินให้ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ

ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่บริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้ของ PETRONAS และ China National Petroleum Corporation?s (CNPC, อันดับเครดิต A+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัททั้งสองมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและภาครัฐฯ ของประเทศ ในขณะที่ของ ปตท. อยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนถึงการที่ ปตท. มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 40 ในธุรกิจน้ำมันและมีการแข่งขันจากผู้ประกอบเอกชนการรายอื่นด้วย นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ของ ปตท. อยู่ในระดับสูง แต่อยู่ในระดับต่ำกว่ากว่าเมื่อเทียบกับ PETRONAS และ CNPC ที่อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัททั้งสองมีสถานะเป็นผู้กู้ยืมที่ใกล้ความเป็นภาครัฐฯ มากกว่า

สถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของปตท. ที่ระดับ ?bbb+ สะท้อนถึงความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรขนาดกลาง โดย ปตท. มีขนาดธุรกิจที่เล็กมากเมื่อเทียบกับ CNPC และ PETRONAS ซึ่งอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของประเทศ ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าบริษัท OMV AG (อันดับเครดิต A- แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) และบริษัท Repsol, S.A. (อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในด้านรายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) แต่มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่น้อยกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ OMV ปตท. มีอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดติที่ใกล้เคียงกัน แต่ OMV ดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และเมื่อเทียบกับ Repsol ปตท. มีอัตราส่วนทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ราคา 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564, 53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2565 และปีถัดๆไป
  • ปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปีโดยเฉลี่ย ในปี 2564-2568 (ปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1)
  • EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน ฟื้นตัวในปี 2564
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2564-2565 (2563 มีการลงทุนทั้งสิน 1.5 แสนล้านบาท) ซึ่งรวมเงินที่ใช้ในการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Oman Block 61 จำนวน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินที่ได้รับจากการ IPO ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) จำนวน 5.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2564
  • การจ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50 ของกำไร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก - การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศไทย หากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับประเทศไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยลบ - การปรับลดอันดับเครดิตประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.:

  • การลงทุนที่สูงโดยใช้เงินกู้ยืม หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วน FFO net leverage ที่สูงกว่า 2.8 เท่า
  • การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย ที่ได้ประกาศในรายงานลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563

ปัจจัยบวก:

  • ด้านเศรษฐกิจมหภาค: ความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • ด้านโครงสร้าง: แรงกดดันทางสังคมและการเมืองที่น้อยลง เช่น ประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายภาครัฐในการบริหารประเทศที่ดีขึ้น ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หรือเสถียรภาพทางการเมืองที่มีความต่อเนื่องมากขึ้น

ปัจจัยลบ:

  • ด้านหนี้สาธารณะ: การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของหนี้สินของรัฐบาล เช่น เนื่องจากฐานะทางการคลังที่แย่ลง หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (contingent liabilities)
  • ด้านโครงสร้าง: ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ ปตท. ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่มีอยู่จำนวนมากถึงประมาณ 4.2 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 เมื่อเทียบกับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 7.8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่บริหารจัดการได้ โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 11.2 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ