ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ที่ระดับ "AA" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยหลักของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค (ได้รับอันดับเครดิต "AA/Stable" จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศไทย
ในการประเมินอันดับเครดิตดังกล่าวทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศไทยรวมทั้งการที่บริษัทมีคลื่นความถี่วิทยุที่เพียงพอต่อการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังมีปัจจัยส่งเสริมจากการสนับสนุนของ Telenor ASA (Telenor) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทแม่ของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการสื่อสารแบบไร้สาย ตลอดจนการลงทุนในระดับสูงเพื่อขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และเพื่อใช้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ รวมถึงการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของสภาวะเศรษฐกิจท่ามกลางผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งยังดำเนินอยู่
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- เป็นบริษัทย่อยหลักของ DTAC หรือ ดีแทค ที่เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท โดยบริษัทได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยธุรกิจของดีแทคในการดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทและดีแทคซึ่งเป็นบริษัทแม่จึงมีบูรณาการที่แนบแน่นในแง่ของกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเงิน โดยดีแทคมีส่วนในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทอย่างเต็มที่ผ่านผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท
บริษัทและบริษัทแม่ให้บริการลูกค้ากลุ่มเดียวกัน โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีฐานลูกค้าจำนวน 18.9 ล้านราย บริษัทเป็นผู้สร้างรายได้เกือบทั้งหมดให้แก่ดีแทค ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบจากบริษัทแม่ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือทางการเงินในเวลาที่จำเป็นเนื่องจากบริษัทมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างผลการดำเนินงานโดยรวมให้แก่บริษัทแม่
ทั้งนี้ ตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ" ของทริสเรทติ้ง อันดับเครดิตของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยหลักของดีแทคจึงถือว่ามีระดับเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่
- ดีแทคเป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 21% ของจำนวนผู้ใช้บริการในประเทศไทยทั้งหมด ณ เดือนธันวาคม 2563 ทั้งนี้ดีแทคมีรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charges ? IC) ในสัดส่วนประมาณ 23% ของรายได้รวมของทั้งอุตสาหกรรม
ดีแทคสูญเสียลูกค้าไปมากกว่า 5 ล้านรายในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากความอ่อนไหวของตลาดจากการที่บริษัทมีความด้อยกว่าในเรื่องของจำนวนคลื่นความถี่และการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา โดย ณ 31 ธันวาคม 2563 ดีแทคมีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 18.9 ล้านราย ลดลง 8.6% จาก 20.6 ล้านรายในปี 2562 อนึ่ง ผู้ใช้บริการระบบรายเดือนคิดเป็นสัดส่วน 32% ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมดของบริษัทและสัดส่วนที่เหลือเป็นผู้ใช้บริการในระบบเติมเงิน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 และการที่บริษัทมีคลื่นความถี่พร้อมให้บริการเพิ่มมากขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าความพยายามในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของดีแทคจะมีความท้าทายเป็นอย่างมาก
- การสนับสนุนจาก Telenor การพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทยังครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนที่ Telenor มีให้แก่ดีแทคอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าดีแทคเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธุรกิจของ Telenor ด้วยเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็นการที่ดีแทคเป็นผู้สร้างรายได้และกำไรในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญให้แก่กลุ่ม Telenor หรือการที่ดีแทคมีผลการดำเนินงานที่ดีและมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับชื่อเสียงของกลุ่ม ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า Telenor จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ดีแทคในยามที่จำเป็นต่อไป ทั้งนี้ การที่การดำเนินธุรกิจรวมถึงสินทรัพย์หลักของดีแทคและใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นความถี่อยู่ภายใต้ชื่อของบริษัท ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจาก Telenor เช่นเดียวกันในยามจำเป็น
- มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ บริษัทมีคลื่นความถี่ (Spectrum) และความกว้างของแถบคลื่นความถี่ (Bandwidth) เพียงพอที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีใบอนุญาตในการใช้คลื่นครบทุกย่านความถี่ในการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งประกอบด้วย ย่านความถี่ต่ำซึ่งบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 700 เมกะเฮิรตซ์ (Megahertz - MHz) และ 900 เมกะเฮิรตซ์ (ปัจจุบันทางบริษัทใช้คลื่นความถี่ขนาด 850 เมกะเฮิรตซ์และคาดว่าจะเปลี่ยนมาใช้ คลื่นความถี่ขนาด 900 เมกะเฮิรตซ์ ภายใน 31 ธันวาคม 2564) ส่วนย่านความถี่ปานกลางนั้นบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาด 2100 เมกะเฮิรตซ์ และขนาด 2300 เมกะเฮิรตซ์ (เป็นพันธมิตรกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)) และย่านความถี่สูงซึ่งบริษัทมีคลื่นความถี่ขนาด 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ (Gigahertz - GHz)
ทริสเรทติ้งคาดว่าใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับมาใหม่จะทำให้ประสิทธิภาพของโครงข่ายและความสามารถในการให้บริการของบริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะขยายเครือข่ายเทคโนโลยีรุ่นที่ 4 หรือ 4G (Fourth Generation) และ 5 หรือ 5G (Fifth Generation) ไปยังพื้นที่ชนบทและจังหวัดใหญ่ๆ ในทุกภาคผ่านย่านความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์และพัฒนาเครือข่าย 5G ร่วมกับหุ้นส่วนหลายฝ่ายในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการใช้งานแบบ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things -- IOT) ในย่านความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ ย่านความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งในอาคารและพื้นที่ห่างไกลในทุกภูมิภาค และเร่งพัฒนาสู่แนวทางการให้บริการ 5G โดยนำเทคโนโลยี Dynamic Spectrum Sharing (DSS) ซึ่งสามารถใช้งานโดยไม่ต้องแบ่ง Bandwidth ด้วยประสิทธิภาพเต็มที่สูงสุด
ในขณะที่ย่านความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์จะมีความหน่วงต่ำที่สุด (lowest latencies)และมีความจุสูงที่สุดสำหรับการใช้งานในเทคโนโลยี 5G ที่ต้องการส่งผ่านข้อมูลที่มีปริมาณมากในทันที เช่น การเชื่อมโยงของอุปกรณ์ต่างๆ บริการระบบขนส่งและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Logistics and Smart Cities) และการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล ทั้งนี้บริษัทได้เริ่มต้น 5G บนคลื่น 26 GHz กับพันธมิตรกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆในการปฏิวัติรูปแบบการใช้งาน หรือ use-case แต่ยังไม่ได้เริ่มให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป
- การให้บริการ 4G ยังคงมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันในระหว่างผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในอนาคตอันใกล้เนื่องจากตลาดค่อนข้างอิ่มตัวทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการพัฒนาการให้บริการ 5G ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าตลาดจะยังคงใช้เทคโนโลยี 4G เป็นหลักและมีการเพิ่มระดับบริการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง (Broadband) ในบางพื้นที่ ทั้งนี้ เทคโนโลยี 5G อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาทั้งในส่วนของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและความเพียงพอของอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีนี้ ปัจจุบันบริษัทยังคงเพิ่มความจุและประสิทธิภาพของโครงข่าย 4G ภายใต้คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์และขยายเทคโนโลยี massive MIMO อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทมีสถานีสำหรับโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 20,400 แห่งโดยประมาณ
- ความกดดันจากโรคโควิด 19 ที่ยังคงอยู่ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้ของบริษัท แม้ว่าการระบาดจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและช่วยเพิ่มยอดการใช้ข้อมูลรายเดือนของผู้ใช้บริการ แต่บริษัทก็ได้รับผลกระทบในด้านลบจากการลดลงของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวอันเนื่องมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของบริษัทลดลง 5% มาอยู่ที่ระดับ 5.4 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จากระดับ 5.7 หมื่นล้านบาทในปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด 19 รอบใหม่ ดังนั้น ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของบริษัทในปี 2564 จะยังคงลดลงที่ระดับ 2% ต่อไปอีกจากปีก่อนหน้า โดยคาดว่ารายได้จะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปจากสมมติฐานที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความคลี่คลายโดยที่บริษัทมีมาตรการในการพัฒนาบริการที่ดีขึ้นและมีการขยายโครงข่ายไปยังจังหวัดสำคัญ ๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ
- มีรายได้ที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่ารายได้ของบริษัทคาดว่าจะลดลงในปี 2564 ผนวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้นทุนส่วนแบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงข่ายคาดว่าจะลดลงตลอดช่วงปีประมาณการโดยมีสาเหตุหลักเนื่องมาจากการที่บริษัทมีรายจ่ายค่าเช่าในการใช้โครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์โทรคมนาคมของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนบริการข้ามโครงข่ายไปยังโครงข่าย 2300 เมกะเฮิรตซ์ของบริษัททีโอทีจะยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้เป็นอย่างดีต่อไป
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับช่วงปี 2564-2566 คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 2.2-2.3 หมื่นล้านบาทต่อปีได้ โดยคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 31%-32% และเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ระหว่าง 1.9-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการ
- ภาระหนี้คาดว่าจะลดลง ทริสเรทติ้งประมาณการว่าเงินลงทุนสำหรับการขยายโครงข่ายของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีและบริษัทจะมีภาระการจ่ายชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนดทั้งสิ้นอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 แม้ว่าบริษัทต้องมีการลงทุนที่สูงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะทยอยลดลงหลังจากที่บริษัทสร้างรายได้จากคลื่นความถี่ที่ประมูลมาได้ใหม่ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงิน (รวมภาระหนี้และหนี้สินจากสัญญาเช่าทางการเงิน) ต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 5-6 เท่า และประมาณการอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับ 15%-17% ตลอดช่วงประมาณการ
- สภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เพื่อขยายโครงข่ายและจ่ายชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ในขณะเดียวกัน บริษัทมีภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายชำระให้แก่ธนาคารและสำหรับไถ่ถอนหุ้นกู้คิดเป็นจำนวน 6.5 พันล้านบาทในปี 2564 และยังมีหนี้ระยะสั้นในส่วนของสัญญาเช่าทางการเงินอีกจำนวน 4.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากดีแทค
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจะลดลง 2% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 2%-3% ในระหว่างปี 2565-2566
-อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ในช่วง 31%-32% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า
-บริษัทจะใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 1.8-2.2 หมื่นล้านบาท
-จะไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ตลอดระยะเวลาประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดเพื่อรองรับภาระหนี้ที่เป็นไปตามประมาณการ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยหลักของดีแทคจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจของทริสเรทติ้ง อันดับเครดิตของบริษัทมีระดับเท่ากับและเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน