บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) เป็นมีเสถียรภาพจากเป็นลบ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัทฯ ที่ ?A-(tha)?
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของ KCE และอุตสาหกรรมแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์เชื่อว่า KCE จะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ ซึ่งมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ของ KCE น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แม้ว่าบริษัทฯ จะมีแผนขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
- กำไรเพิ่มขึ้นจากความต้องการซื้อที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่ารายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเติบโตประมาณร้อยละ 15-20 ต่อปี ในปี 2564-2565 จากความต้องการซื้อแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่ง การเติบโตของกำไรยังเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตส่วนเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 เป็นต้นไป ยอดขายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของ KCE ได้เพิ่มกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในไตรมาส 4 ปี 2563 และยังมีคำสั่งซื้อจำนวนมากสำหรับปี 2564 ฟิทช์คาดว่าความต้องการซื้อจะเติบโตดีต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากสัดส่วนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
- อัตราส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ KCE จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 19-20 ในปี 2563-2564 จากการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้นและการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความซับซ้อน (HDI) ซึ่งมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าราคาวัตถุดิบสำคัญมีแนวโน้มสูงขึ้นปี 2564 ความต้องการซื้อที่แข็งแกร่งและสินค้า แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ขาดตลาดน่าจะทำให้ผู้ผลิตมีความสามารถปรับเพิ่มราคาขายตามการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบได้ ในปี 2563 KCE มี EBITDA Margin ที่ร้อยละ 18.3 (ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 15.9) ซึ่งสูงกว่าที่ฟิทช์เคยคาดแม้ว่าจะเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งเป็นผลมาจากสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นและความพยายามในการลดต้นทุนของบริษัทฯ ที่มีประสิทธิภาพ
- ความยืดหยุ่นทางการเงินสำหรับการขยายการลงทุน ฟิทช์มองว่าแผนการลงทุนที่สูงของ KCE มีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ความต้องการซื้อสินค้าอ่อนแอกว่าที่คาด KCE สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินในระดับต่ำด้วย FFO Net Leverage เท่ากับศูนย์ ในปี 2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถรองรับแผนการลงทุนที่สูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต KCE มีแผนการลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท ในปี 2564-2565 สำหรับการเพิ่มกำลังการผลิตและการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อรองรับความต้องการซื้อในตลาดที่เติบโตสูง
- ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรฯ รถยนต์รายใหญ่ อันดับเครดิตของ KCE สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีวงจรสินค้าที่ค่อนข้างยาว และต้องอาศัยความผูกพันกับลูกค้าในการได้มาซึ่งยอดขาย ทำให้เป็นธุรกิจที่มีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics) KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งด้านรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5
- การกระจุกตัวของรายได้ที่ลดลง ความพยายามของ KCE ที่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้า HDI ซึ่งรวมถึงสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่รถยนต์ จะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากการขายแผ่นพิมพ์วงจรจากลูกค้ารายใหญ่ 5 รายแรกที่ประมาณร้อยละ 50 ในปี 2563 ซึ่งลดลงจากประมาณร้อยละ 65 ในปี 2553
- อัตรากำไรที่มีความอ่อนไหวต่อค่าเงินบาท ธุรกิจของ KCE มีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรมีความผันผวนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ส่งออก รายได้และกำไรจะลดเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากประมาณร้อยละ 80-90 ของรายได้ อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ร้อยละ 50-60 ของต้นทุนอยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
KCE มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ KCE มีความใกล้เคียงกันกับของ บมจ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) (PTL) , อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) PTL เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้ PTL ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ซึ่งมีความผันผวนด้านราคา และมีการแข่งขันที่สูง ในขณะที่ KCE เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า แต่ KCE มี EBITDA Margin และ Free cash flow margin ที่สูงกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วน หนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน
บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ KCE ต่างมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ขายสินค้าคนละชนิด EPG เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจและลูกค้าที่มากกว่า โดย EPG มีการกระจายรายได้จากการผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นและผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม KCE และ EPG มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ KCE มี EBITDA Margin และ Free cash flow margin ที่สูงกว่า ด้วยสถานะทางธุรกิจที่เทียบเคียงกันและอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียว อันดับเครดิตของทั้งสองบริษัทจึงเท่ากัน
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแรงที่ร้อยละ 15-20 ต่อปี ในปี 2564-2565 (ปี 2563 ลดลงร้อยละ 4.7) จากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อแผ่นพิมพ์วงจรฯ ในทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิต รายได้เติบโตที่ระดับร้อยละ 4-6 ในปี 2566
- EBITDA Margin เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 19-20 ในปี 2564-2566 (ปี 2563 ร้อยละ 18.3) จากการเพิ่มกำลังการผลิตและการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจร HDI
- ราคาทองแดงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในปี 2564
- ค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงสำหรับการขยายกำลังการผลิตและการปรับปรุงด้านเทคโนโลยี จำนวน 2.8 พันล้านบาท ในปี 2564 (ปี 2563: 334 ล้านบาท) และ 500-600 ล้านบาทต่อปี ในปี 2565-2566 โดยยังไม่รวมแผนการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ที่ยังอยู่หว่างการพิจารณา
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับสูงที่ประมาณร้อยละ 85-90 ในปีงบการเงิน 2564-2566 (ปี 2563 ร้อยละ 92)
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากว่า KCE จะมีการขยายขนาดธุรกิจและเพิ่มการกระจายตัวของลูกค้า อย่างมีนัยสำคัญ โดยยังคงรักษาอัตราส่วน FFO Net Leverage ต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ กระแสเงินสดที่ต่ำกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้ FFO Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง, EBITDA Margin ต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่อง และ สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ณ สิ้นปี 2563 KCE มีหนี้ทั้งหมดที่ 2.3 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีจำนวน 1.7 พันล้านบาท โดยหนี้ระยะสั้นดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วยหนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 2.3 พันล้านบาท และมีสภาพคล่องเสริมจากวงเงินกู้หมุนเวียนที่ยกเลิกได้ (uncommitted facilities) จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท และ 82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2563 เงินลงทุนสำหรับการขยายกำลังการผลิต น่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและวงเงินกู้จากสถาบันการเงินบางส่วน