นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้ารายได้ในปี 64 เติบโต 5-10% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 399,939 ล้านบาท แม้ว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 ทำได้ดีกว่าคาดการณ์ หรือเพิ่มขึ้น 85% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก แต่เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในบางประเทศ เช่น อินเดีย ทำให้บริษัทยังต้องติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างไร เพื่อประเมินทิศทางผลการดำเนินงานในปีนี้อีกครั้ง
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของแต่ละธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยธุรกิจเคมิคอลส์ มองว่าในแง่ของความต้องการ และภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ, ยุโรป และจีน ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทำให้เชื่อมั่นว่าตลาดขนาดใหญ่ทั้งหมดน่าจะฟื้นตัวได้เร็วๆ นี้ ส่งผลดีต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้เพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ในแง่ของต้นทุนที่อิงกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบจะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย และในช่วงครึ่งหลังของปีจะมีกำลังการผลิตใหม่ออกมา โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งต้นทุนพลังงานถือว่ามีผลกระทบในเชิงลบกับธุรกิจ และกำลังการผลิตที่เพิ่มเข้ามาในตลาดก็อาจเป็นผลกระทบที่ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้มองว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ในด้านการดำเนินงานบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) อาทิ SMX HDPE และ HDPE Pipe PE112 และเร่งการเข้าสู่ธุรกิจที่ตลาดมีการเติบโตสูง เช่น ธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ล่าสุดได้เข้าสู่ธุรกิจในยุโรปด้วยการซื้อหุ้นบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้ประกอบธุรกิจและผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในโปรตุเกส ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถนำความได้เปรียบนี้ไปพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งขยายช่องทางการขายในตลาดยุโรปได้
นอกจากนี้ โครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงาน MOC Debottleneck ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ DOW ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนและเริ่มทดลองดำเนินการผลิตแล้ว คาดว่าจะผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือน พ.ค.64 จะทำให้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทำให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำลง และยังทำให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process)
ส่วนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม ปัจจุบันมีความคืบหน้าตามแผนแล้ว 76% โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 66
อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ รวมถึงเตรียมเสนอขายหุ้น SCG Chemicals ต่อประชาชนทั่วไป (IPO) เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในอนาคต เช่น ความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน และการลงทุนอื่น ๆ คาดว่าการศึกษาและการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 65
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ไตรมาส 1/64 ตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยเติบโตได้ราว 2-3% เป็นไปตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดเล็กที่ภาครัฐได้กระจายไปทั่วประเทศ ส่วนการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะโครงการใหม่ๆ ยังชะลอตัว จากผลกระทบของโควิด-19 โดยตรง ยกเว้นการปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่ยังไปได้
นายรุ่งโรจน์ ระบุว่า ยังต้องดูการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของแต่ละประเทศ หากประเทศใดระบาดมากก็จะส่งผลกระทบกับความต้องการ แต่ถ้าควบคุมการแพร่ระบาดได้ ความต้องการของตลาดน่าจะเติบโตไปได้ ขณะที่ของไทย เดิมทีเป็นตลาดที่รองรับนักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันความต้องการหายไป เช่น กลุ่มของโรงแรม ทำให้ธุรกิจดังกล่าวน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่ม
ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง ยังคงเติบโตได้ดี ด้วยการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานตามโมเดลธุรกิจที่มุ่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียน รุกขยายกำลังการผลิตและผนึกกำลังระหว่างฐานการผลิตต่าง ๆ ซึ่งได้เปิดดำเนินการโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์กำลังผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ตันต่อปี ของ Fajar ในประเทศอินโดนีเซีย และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์อีกกว่า 347 ล้านชิ้นต่อปี ในบริษัท วีซี่ แพ็คเกจจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าทางเรือได้ดี ทำให้สามารถรองรับความต้องการของตลาดที่ฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ