นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ 9 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรี่ และระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping System) ที่นำเทคโนโลยี Semi-Solid ของ GPSC หรือ G-Cell มาพัฒนาต่อยอด เพื่อติดตั้งในยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ประเภทจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า ในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านความปลอดภัย การระบายความร้อน และการลดเวลาการอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในการให้บริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าในสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าในอนาคต
ทั้งนี้ ความร่วมมือร่วมกับทั้ง 9 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด (Fomm (Asia) Company Limited), บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (I-Motor Manufacturing Company Limited) ,บริษัท โตโยตรอน มอเตอร์ จำกัด (Toyotron Motor Company Limited), บริษัท ฟอมม์มิวนิตี้ จำกัด (Fommunity Company Limited), บริษัท เอเชีย เทคโนโลยี อินดัสทรีส์ จำกัด (Asia Technology Industry Company Limited) , บริษัท บางกอกเพย์ จำกัด (Bangkok Pay Company Limited), บริษัท สตรอง (ไทยแลนด์) จำกัด (Strongs (Thailand) Company Limited), บริษัท อำนวยการดับเพลิง จำกัด (Amnuay Fire Extinguishers Company Limited ) และบริษัท สามล้อไทย จำกัด (Samlor Thai Company Limited)
กรอบความร่วมมือครั้งนี้ มีแผนดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาต้นแบบของแบตเตอรี่และระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ที่ครอบคลุมในข้อกำหนดด้านต่างๆ ทั้งในคุณสมบัติการพัฒนาแบตเตอรี่ การออกแบบองค์ประกอบของเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการระบายความร้อนและความปลอดภัยโดยอิงมาตรฐานสากลเป็นต้นแบบ 3 มิติของชุดแบตเตอรี่ที่จะใช้ในการผลิต
ระยะที่ 2 ความร่วมมือทางด้านการผลิตชุดแบตเตอรี่ต้นแบบ ที่จะนำไปติดตั้งในยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ โดยการใช้ร่วมกับเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) รวมทั้งการจัดตั้งสถานีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีชาร์จไฟฟ้า (Battery Swapping Station) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ในการให้บริการผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ฟอมม์มิวนิตี้ และบริษัท เอเชีย เทคโนโลยี อินดัสทรีส์ โดยจะมีการทดสอบระบบความพร้อมและประสิทธิภาพการใช้งานก่อนที่จะนำไปสู่การติดตั้งให้บริการในเชิงพาณิชย์ต่อไป และระยะที่ 3 จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดจำหน่ายชุดแบตเตอรี่ในเชิงพาณิชย์
"ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าของการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก" นายวรวัฒน์ กล่าว