นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/64 กำไรสุทธิ 6,644 ล้านบาท และกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 22,580 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.7% และ 0.9% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม EBITDA เริ่มฟื้นตัวมาเติบโต 1.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากรายได้ที่กลับมาเติบโตและการบริหารจัดการต้นทุน SG&A อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่ายังมีการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G แต่ AIS ยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายการขายและบริหารให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับกำไรสุทธิที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลกระทบของ โควิด-19 และการแข่งขันที่ยังคงสูงต่อเนื่องมาจากปีก่อน และกำไรสุทธิลดลง 7.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในไตรมาส 4/63
ในไตรมาส 1/64 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 45,861 ล้านบาท เติบโต 7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 โดยภาพรวมรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายได้อยู่ที่ 29,351 ล้านบาท ลดลง 3.2% แต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยเติบโต 1.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน รายได้ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 17%(YoY) มาที่ 1,919 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขเติบโตสูงสุดเหนืออุตสาหกรรม แม้ความไม่แน่นอนจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แต่เอไอเอส ยังคงเดินหน้าขยายโครงข่าย 5G/4G เพื่อเสริมศักยภาพผู้นำ ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น
นายสมชัย กล่าวว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ภาพรวมรายได้ลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 แต่เติบโตขึ้น 1.2% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากยอดผู้ใช้บริการใหม่ที่เติบโตสูง รวมถึงมาตรการจากภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน โดยรายได้ในกลุ่มผู้ใช้บริการรายเดือน (Postpaid) ยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนเพิ่มขึ้นสุทธิกว่า 442,400 เลขหมาย ส่วนกลุ่มผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน (Prepaid) ได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีจำนวนเลขหมายเพิ่มขึ้นสุทธิ 887,900 เลขหมาย ส่งผลให้ปัจจุบัน AIS ยังครองผู้ให้บริการอันดับหนึ่งที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดถึง 42,767,100 เลขหมาย ในขณะที่ตลาดยังคงเน้นแพ็กเกจดาต้าแบบใช้งานไม่จำกัด
ขณะที่การเติบโตของผู้ใช้บริการ 5G ซึ่งได้ขยายเครือข่าย 5G ครบ 77 จังหวัด โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน ต.ค.63 ซึ่งเมื่อจบไตรมาส 1/64 มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 7 แสนราย โดยตั้งเป้าสู่ 1 ล้านรายภายในปีนี้
ส่วนธุรกิจเน็ตบ้าน ยังคงได้รับปัจจัยบวกมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งจากการทำงานที่บ้าน (WFH) ของบริษัทต่างๆ หรือแม้แต่การเรียนของนักเรียน นักศึกษา ที่การใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญมากขึ้น โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ AIS Fibre มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 95,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 7% จากปลายปีก่อนหน้า ทำให้มีผู้ใช้บริการรวมแล้วกว่า 1.43 ล้านรายทั่วประเทศ
ถึงแม้ว่าระดับรายได้เฉลี่ยรายเดือนต่อลูกค้าหรือ ARPU จะลดลงจากการแข่งขัน แต่ภาพรวมของรายได้ยังคงเติบโตกว่า 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นรายได้ 1,919 ล้านบาท เอไอเอสไฟเบอร์ยังคงยืนหยัดผู้นำธุรกิจเน็ตบ้านที่เติบโตสูงสุดและแข็งแกร่งเหนือตลาด
นายสมชัย กล่าวว่า สัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจในไตรมาสแรกปีนี้ อาจไม่ได้ส่งผลต่อตัวเลขระยะยาวแต่อย่างใด เพราะขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการระบาดระลอกที่ 3 ของโควิด-19 ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงกระทบต่อภาคธุรกิจตลอดทั้งปี แต่การทำงานของเรายังคงเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องตามงบประมาณที่ตั้งไว้กว่า 25,000-30,000 ล้านบาท เพื่อนำศักยภาพ 5G เข้าฟื้นฟูประเทศผ่านการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมต่างๆ ในทุกมิติ"