บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค ปรับแนวโน้มผลประกอบการสำหรับปี 64 ในส่วนรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC จากลดลงหลักเดียวในระดับต่ำ เป็น คงที่จนถึงลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ และ EBITDA จากลดลงหลักเดียวในระดับต่า เป็น คงที่จนถึงเพิ่มขึ้นหลักเดียวในระดับต่ำ
ในขณะที่คงแนวโน้มด้านค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ 13,000-15,000 ล้านบาท
ณ สิ้นไตรมาส 1/64 ดีแทคมีสถานีฐานบนเครือข่าย 700 MHz ที่ได้รับการติดตั้งแล้วจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 5,000 สถานีฐาน ซึ่งเพิ่มความครอบคลุมสัญญาณทั้งในอาคารและพื้นที่ห่างไกล ยกระดับประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าดีแทคให้ดียิ่งขึ้น พร้อมเปิดให้บริการ 5G ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี และจะขยาย 5G ไปยังพื้นที่อื่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อรองรับการเติบโตของความต้องการของลูกค้าเมื่ออุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 5G เข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/64 ดีแทคมีสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-2300 MHz ที่ได้รับการติดตั้งแล้วจานวนทั้งสิ้นประมาณ 20,700 สถานีฐาน ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานความเร็วสูงและเพิ่มความจุของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ ดีแทค รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 1/64 เท่ากับ 822 ล้านบาท ลดลง 45.2% จากไตรมาส 1/63 แต่เพิ่มขึ้น 193.1% จากไตรมาสก่อนจาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถูกชดเชยด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้น และการขาดทุนในส่วนของรายการสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิ
โดย EBITDA (ก่อนรายการอื่น ๆ) ในไตรมาสนี้เท่ากับ 7,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากไตรมาสก่อน สืบเนื่องจากรายการพิเศษในไตรมาสที่ 4/63 การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนกำไรจากการจำหน่าย เครื่องโทรศัพท์ การลดลงของค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาดจากปัจจัยฤดูกาล และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่ายในเชิงโครงสร้าง
และลดลง 2.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากรายได้ที่มีพัฒนาการอ่อนตัวจากผลกระทบโรคระบาด ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนจากการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายโครงข่าย และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ส่งผลให้ EBITDA margin (ไม่รวมรายได้จาก CAT ภายใต้สัญญาเช่าสินทรัพย์สัมปทาน และ รายได้ค่าเช่าเครือข่าย 2300 MHz จาก TOT) ในไตรมาสนี้เท่ากับ 43.9% เพิ่มขึ้นจาก 38.5% ในไตรมาสก่อน และ 43.7% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 20,516 ล้านบาท อยู่ในระดับคงตัวจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 2.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์และชุดเลขหมาย และรายได้จากค่าเช่าเครือข่าย 2300 MHz จาก TOT ทั้งนี้รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย เท่ากับ 14,149 ล้านบาท ซึ่งคงตัวที่อัตราเพิ่ม 0.5% จากไตรมาสก่อนหลังจากปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องใน 4 ไตรมาสที่ผ่านมาจากผลกระทบโรคระบาด และลดลง 7.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ในไตรมาส 1/64 ดีแทคมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมเท่ากับ 19.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 2.29 แสนเลขหมายจากไตรมาสก่อน เป็นผลหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของลูกค้าในระบบเติมเงิน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.89 แสนเลขหมาย มาอยู่ที่ 12.94 ล้านเลขหมาย แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ดีแทคหันเป้าหมายมาเป็นกลุ่มลูกค้าชาวไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา จานวนฐานลูกค้าระบบรายเดือนอยู่ที่ 6.15 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 4.0 หมื่นเลขหมายจากไตรมาสก่อน
รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ARPU) สาหรับไตรมาส 1/64 เท่ากับ 248 บาทต่อเดือน ซึ่งลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 1.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/64 ลูกค้าในระบบรายเดือนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 32.2 ของจำนวนลูกค้ารวม รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของลูกค้าระบบรายเดือนในไตรมาส 1/64 เท่ากับ 501 บาทต่อเดือน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 4.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของลูกค้าระบบเติมเงินเท่ากับ 127 บาทต่อเดือน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 2.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากระดับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงจากแรงกดดันต่อเนื่องทางเศรษฐกิจ