ACAP ตั้งเป้ายกสินเชื่อบุคคล-บริหารหนี้ด้อยคุณภาพเป็นธุรกิจหลักในอนาคต

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 5, 2007 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.เอแคป แอ๊ดไวเซอรี่(ACAP)คาดรายได้ปี 51 จะเติบโตมากกว่า 10% หลังเข้าซื้อกิจการบริษัท แคปปิตอล โอเค(CAP OK)ทำให้บริษัทมีธุรกิจสินเชื่อบุคคลเพิ่มเข้ามาสร้างรายได้ให้บริษัทมากขึ้น พร้อมช่วยขยายฐานสินทรัพย์ของบริษัท หลังจากที่คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้น CAP OK ภายในเดือน พ.ย.นี้ ในอนาคตรายได้ของ ACAP เติบโตจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก
ขณะที่ปี 50 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 330 ล้านบาท และคาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 41 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 4/50 จะมีรายได้และกำไรสูงกว่าไตรมาสอื่น จากการบริหารพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านบาท
"การที่บริษัทเข้าซื้อแคปปิตอล โอเคส่งผลดีให้เราได้ธุรกิจสินเชื่อบุคคลเพิ่มเข้ามาอีกธุรกิจ ซึ่งเรา Synergy กับธุรกิจปัจจุบัน เราคิดว่าการเข้าซื้อครั้งนี้จะได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 15% ต่อปี"นายศฤงคาร สุทัศน์ชูโต กรรมการ ACAP กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ ACAP และ บริษัท ORIX Corporation(ORIX)ได้เข้าซื้อ CAP OK ทั้ง 99.99% จาก บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ในราคา 990 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ 700 ล้านบาทเป็นการชำระคืนหนี้ให้กับ SHIN ซึ่งการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ACAP จะเข้าถือหุ้น 50.99% คิดเป็นเงิน 147.90 ล้านบาท
ณ สิ้นมิ.ย.50 CAP OK มีสินทรัพย์รวม 8.2 พันล้านบาท โดยมีพอร์ตสินเชื่ออยู่ประมาณกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งหนี้เสียและผลขาดทุนสะสมได้หมดภาระแล้วจากการที่ SHIN ได้ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้ดำเนินการเพิ่มทุนไปแล้ว 2,300 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว 7,500 ล้านบาท และยังให้เงินกู้ยืม 700 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.75%
นายศฤงคาร ให้เหตุผลการเข้าซื้อ CAP OK ว่าเนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจปัจจุบันของ ACAP ที่ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน และบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จะทำให้บริษัทเพิ่มส่วนธุรกิจให้บริการทางด้านการเงิน หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งบริษัทมีความชำนาญการปล่อยสินเชื่อ และเรียกเก็บหนี้ จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
กระบวนการเข้าซื้อหุ้นนี้ ACAP จะนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 พ.ย.นี้ และคาดว่าหลังจากนั้นจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นได้ภายในเดือนพ.ย. และไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในราคาซื้อขาย ดังนั้น ในแง่บัญชีจะโอนสินทรัพย์และรายได้จาก CAP OK เข้ามาตั้งแต่ พ.ย.50 เป็นต้นไป
"การเข้าไปลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 50.99% ทำให้งบการเงินรวมได้ขยายตัวชัดเจน และเราจะมีรายได้เพิ่มจากแคปปิตอล โอเค นอกเหนือจากธุรกิจ 2 ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้มีรายได้ทางที่ 3 เข้ามาเป็นธุรกิจสินเชื่อบุคคล ซึ่งจะสร้างรายได้ต่อเนื่องให้กับบริษัท เป็นช่องที่ทำรายได้เพิ่มขึ้น จาก 2 ทางเป็น 3 ช่องทาง" นายศฤงคาร กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าแนวโน้มธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะเติบโตได้ดีหลังผ่านการเลือกตั้ง โดยผู้ประกอบการแต่ละรายเตรียมตัวอยู่เพื่อรับกับเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาก โดยที่ผ่านมาธุรกิจสินเชื่อบุคคลในภาพรวมเติบโตปีละประมาณ 17%
ส่วน CAP OK ทาง ACAP มีเวลา 30 วันในการวางแผนงานใน CAP OK นับจากวันนี้จนไปถึงวันเซ็นสัญญา
"เป็นผลดีต่อบริษัทที่จะมีแหล่งรายได้ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และเป็นแหล่งรายได้เพิ่มอีกแหล่งของบริษัท จะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น และเป็นแหล่งรายได้ที่เรามีความชำนาญเชี่ยวชาญในด้านการให้บริการธุรกิจทางการเงิน" กรรมการ ACAP กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ผู้ร่วมทุน คือ ORIX ซึ่งดำเนินธุรกิจทางการเงิน และให้บริการสินเชื่อบุคคลรายใหญ่ในญี่ปุ่น โดยมีสินทรัพยบ์รวม กว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
"การที่เขากับเราเข้าไปร่วมทำธุรกิจในแคปปิตอล โอเค ถือเป็นการเริ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เรารู้สึกยินดีที่เขาเลือกเรา เป็นข่าวดี ข่าวนี้เป็นข่าวดีมาก เพราะเราได้ผู้ร่วมทุนที่มีฐานแน่นมาก และ ORIX เป็น Financial Group ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพเหมือนกับเรา"นายศฤงคาร กล่าว
*เชื่อกำไรสุทธิปี 50 โตกว่าปีก่อนจากบริหารพนี้ด้อยฯ
นายศฤงคาร กล่าวว่า รายได้ปี 50 ตั้งเป้าจะเติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 330 ล้านบาท แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาชะลอตัว แต่บริษัทก็ยังไม่มีการปรับเป้า ขณะที่กำไรสุทธิในปีนี้ก็คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่มี 41 ล้านบาท
ในงวด 6 เดือนที่ผ่านมาบริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้ 184 ล้านบาท และขาดทุน 94.88 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 2/50 มีผลขาดทุนสุทธิจากกิจกรรมบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 104.18 ล้านบาท
"คิดว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอดัวไม่น่าจะมีส่วนสำคัญเท่าไร แต่ในทางบัญชีมีผลกระทบ เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้ที่บริษัทซื้อเข้ามาบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ธุรกิจซื้อหนี้เสียมาบริหารต้องตั้งสำรองก่อนตามมาตรฐานบัญชี ทำให้งวด 6 เดือนบริษัทเกิดผลขาดทุน การตั้งสำรองจะกระทบกำไรในทางบัญชี ส่วนผมดูแล้วกำไรสุทธิปีนี้ไม่น่าจะแย่กว่าปีที่แล้ว"
ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าซื้อหนี้เอ็นพีแอลจากธนาคารทหารไทย(TMB)จำนวน 4.1 พันล้านบาท เมื่อต้นปี 50 และในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาก็ได้เข้าซื้อหนี้เอ็นพีแอลจากธนาคารยูโอบีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท รวมแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับหนี้ด้อยคุณภาพที่บริษัทมีอยู่แล้ว 5 พันล้านบาทจากปีก่อน รวมเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานบริษัทดีขึ้น สามารถทำกำไรได้ดี ซึ่งส่วนใหญ่รายได้และกำไรจะเข้ามาในไตรมาส 4/50 ตามวัฎจักรของธุรกิจ
"โดยปกติผลการดำเนินงานของบริษัทไตรมาส 4 จะดีที่สุดในไตรมาสอื่น ซึ่งจะมาจากค่าธรรมเนียมที่ปรึกษา, จากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ไม่ได้ซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจ และจากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินมีรายได้ดีกว่าปีก่อนตามประมาณการ" นายศฤงคาร กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 49-50 สัดส่วนรายได้หลักจะมาจากการบริหารสินทรัพย์หนี้ด้อยคุณภาพ 80% ส่วนธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน 20% แต่ในแง่กำไรสุทธิ จะมาจากการบริหารสินทรัพย์หนี้ด้อยคุณภาพในสัดส่วน 60% ส่วน 40% มาจากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน เนื่องจากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพมีค่าใช้จ่ายสูง
"อนาคต ACAP จะเติบโตจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ไม่ทิ้งธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน เพราะเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับบริษัทดีมาก เป็นธุรกิจที่เราเริ่มต้น ต่อมาในปี 2003(ปี 46)เราได้เข้าดำเนินธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ พอมาปี 2007(ปี 50)เราเข้าธุรกิจ consumer finance เรามั่นใจว่าฐานธุรกิจที่เรามีอยุ่ในปัจจุบันจะสร้างรายได้ให้เราได้อย่างสม่ำเสมอและแน่นอนให้กับผู้ถิอหุ้น"นายศฤงคาร กล่าว
ACAP เป็นผู้บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอิสระเพียงรายเดียวในประเทศไทย ณ สิ้นมิ.ย.50 มีสินทรัพย์รวม 5.6 พันล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ