บลจ.วรรณ เสนอขายกองทุนหุ้นญี่ปุ่น 5-12 พ.ค.รับโอกาสฟื้นหลังโควิดคลี่คลาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 5, 2021 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า บริษัทเล็งเห็นโอกาสการกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ผ่านกองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท เจแปน อิควิตี้ (ONE-UJE-RA) สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป โดยจะเปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 5-12 พ.ค.นี้

กองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนประเภท Fund of Funds ในกองทุน Comgest Growth PLC - Comgest Growth Japan เป็นกองทุนหน่วยลงทุนในบริษัทญี่ปุ่นที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตระยะยาวทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และ กองทุน Nomura Fund Ireland - Japan High Conviction กองทุนหน่วยลงทุนในบริษัทญี่ปุ่นที่เน้นลงทุนในบริษัทที่มี ROE สูง และมั่นคง โดยมีกลยุทธ์ที่ค่อนข้างกระจุกตัวในบริษัทขนาดใหญ่ประมาณ 20 แห่ง และขนาดกลาง-เล็กประมาณ 10 แห่ง

โดยกองทุน ONE-UJE-RA จะใช้ดัชนี TOPIX Net total Return เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งจากแบบจำลองผลการดำเนินงานย้อนหลัง (Back test) ของ ONE-UJE ในระยะเวลา 1 ปี 3 และ 5 ปี อยู่ที่ 53.05%13.12% และ 16.90% ขณะที่ผลการดำเนินงานดัชนี TOPIX NTR index เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 25.94% 3.84% 9.60% ตามลำดับ

บริษัทมองว่าการจัดสรรเงินเพื่อกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศช่วงนี้ ยังเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทยังคงแนะนำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมีมุมมองเชิงบวกในตลาดหุ้นแถบเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่น โดยมองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะพลิกฟื้นกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง หลังวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากศักยภาพที่เป็นประเทศด้านเทคโนโลยีแห่งเอเชียอยู่ก่อนแล้ว โดยมีหลายบริษัทของประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสากรรม Autonomous โดยเฉพาะเครื่องจักรกลโรงงาน รวมถึง ตลาด Digital Information นับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ดี ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล หรือแม้แต่ตลาดด้านสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและได้รับความนิยมทั้งในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ จุดเด่นที่น่าสนใจของบริษัทจดทะเบียน คือ ฐานะทางการเงินที่มั่นคง และที่สำคัญ คือมีมูลค่าต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

"บริษัทจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น ยังมีความน่าสนใจซ่อนอยู่ ที่ผ่านมาบริษัทในญี่ปุ่นอาจจะยังใช้ศักยภาพด้านดิจิตอลไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ปัจจุบันนี้บริษัทญี่ปุ่นที่ได้ปรับตัวใช้เทคโนโลยีต่างๆแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ซึ่งน้อยกว่าในสหรัฐฯ ที่กว่าครึ่งธุรกิจใช้เทคโนโลยีดิจิตอลแล้ว หรือคิดสัดส่วนประมาณ 55% โดยบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มในการนำระบบเทคโนโลยี AI และ IoT ต่างมาใช้เพิ่มมาขึ้นต่อเนื่อง จากประมาณ 29% ในปี 2019 มาอยู่ที่ประมาณ 34% ในปี 2020 สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการเติบโตของบริษัทอีกมากในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้การปรับโครงสร้างองค์กร เช่น การทำ M&A หรือการขายสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักออกไป อาจเป็นส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในภาพรวมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีระดับเงินสดที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐฯ และยุโรป โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีระดับการเงินสดโดยอยู่ที่ประมาณ 56% ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 และดัชนี STOXX600 มีระดับการเงินสดอยู่ราว 18% และ 15% อีกทั้งคาดการณ์ EPS Growth ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วข้างต้นอยู่ที่ 22% 32% และ 34% ตามลำดับ" นายพจน์กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ