ทริสฯ คงอันดับเครดิต LOXLEY ที่ BBB, หุ้นกู้ค้ำประกันบางส่วนที่ BBB+/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 5, 2021 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ที่ระดับ "BBB" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ "BBB+" พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนขึ้นอยู่กับสถานะเครดิตของทั้งผู้ค้ำประกันและผู้ออกตราสาร ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทได้รับการค้ำประกันในสัดส่วน 45% ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระ โดยธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จาก ทริสเรทติ้ง*

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการมีธุรกิจที่หลากหลายและความสัมพันธ์ของบริษัทที่มีมาอย่างยาวนานทั้งกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย นอกจากนี้ ในการประเมินอันดับเครดิตทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงกระแสเงินสดซึ่งเป็นเงินปันผลจำนวนมากที่บริษัทได้รับจากบริษัทร่วมรายใหญ่ 2 แห่งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำและรายได้ที่ผันผวนซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากงานโครงการ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น หลังจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงอย่างมากจากการตั้งสำรองเผื่อผลขาดทุนจากงานโครงการในปี 2562 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็ปรับฟื้นตัวดีขึ้นเป็นระดับ 2.3% ในปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของบริษัทในการลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

ในอนาคตบริษัทมีเป้าหมายที่จะเข้าแข่งขันประมูลงานโครงการที่มีอัตรากำไรสูงซึ่งบริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้มากขึ้น บริษัทยังมีแผนจะปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและลดค่าใช้จ่ายในด้านพนักงานให้มากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3%-4% ในปี 2564-2566 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงเห็นว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเนื่องจากบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ งานโครงการของหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ก็มีอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำอีกด้วยเนื่องจากการได้รับงานนั้นต้องผ่านการประมูลที่มีการแข่งขันที่รุนแรง

  • คาดว่ารายได้จะทรงตัว ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีมูลค่างานในมือจำนวนประมาณ 8.6 พันล้านบาทซึ่ง 60% ของมูลค่างานในมือจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ประจำจากธุรกิจจัดจำหน่ายประมาณ 3.5 พันล้านบาทต่อปีอีกด้วย

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าภาครัฐจะลงทุนในโครงการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่ธุรกิจจัดจำหน่ายของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารและสินค้าอุปโภคและบริโภคนั้นได้รับผลกระทบการจากแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โรคโควิด 19) เพียงเล็กน้อย ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2566

  • ธุรกิจที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยง บริษัทให้บริการและจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายผ่านบริษัทย่อยต่าง ๆ ที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นส่วนใหญ่ โดยธุรกิจสำคัญของบริษัทจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (2) ธุรกิจพลังงาน (3) ธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ (Network Solutions) (4) ธุรกิจจัดจำหน่าย และ (5) ธุรกิจบริการ โดยแหล่งรายได้ที่หลากหลายจากธุรกิจจำนวนมากดังกล่าวมีส่วนช่วยลดความผันผวนของกระแสรายได้ของบริษัทลงได้ในระดับหนึ่ง

บริษัทยังลงทุนในบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้าอีกหลายแห่งซึ่งช่วยขยายขอบเขตธุรกิจของบริษัทออกไปในหลาย ๆ ด้าน เช่น การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเครื่อง รวมไปถึงการผลิตเหล็กแผ่นเรียบเคลือบโลหะและเคลือบสี โดยส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนสำคัญของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมจะอยู่ระหว่าง 400-600 ล้านบาทต่อปี

  • มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับกลุ่มลูกค้า บริษัทได้สร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนานทั้งกับลูกค้ารวมทั้งผู้ผลิตและจำหน่าย กล่าวคือ บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าภาครัฐหลายแห่งจากการมีประวัติผลงานในโครงการจำนวนมากที่แล้วเสร็จตามเป้าหมาย นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายสำคัญให้แก่ผู้ผลิตและจำหน่ายระดับโลกมาอย่างยาวนานอีกด้วย

บริษัทมีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการให้บริการและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพสูงในหลากหลายอุตสาหกรรม ในขณะที่ความชำนาญทางเทคนิคในระดับสูงของพนักงานนั้นก็ช่วยเสริมบทบาทของบริษัทในการผลักดันนวัตกรรมและสร้างสรรค์โอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ จุดแข็งดังกล่าวช่วยให้บริษัทชนะการประมูลงานโครงการต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนได้อยู่เสมอ

  • สถานะทางการเงินปรับตัวดีขึ้น สถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 6.8 เท่าในปี 2563 จากที่ลดลงอย่างมากที่ -10.7 เท่าในปี 2562 อันมีสาเหตุเนื่องมาจากทั้งการเพิ่มขึ้นของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรวมทั้งการลดลงของหนี้สินจากระดับสินค้าคงคลังที่ลดลง นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วยังลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 30.1% ในปี 2563 จากระดับ 41.7% ในปี 2562 อีกด้วย

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายประจำปีของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 400-500 ล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 ในขณะที่หนี้สินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ 2.0-2.7 พันล้านบาทซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 5-7 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะค่อยๆ จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ในปี 2566

  • สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในระดับที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.47 พันล้านบาทและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 316 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 250 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 2.6 พันล้านบาทด้วย สภาพคล่องของบริษัทเหล่านี้คาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้และการลงทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระในการชำระหนี้ระยะยาวจำนวนประมาณ 927 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นคงค้างจำนวน 1.69 พันล้านบาท ในขณะที่มีงบลงทุนสำหรับปี 2564 จำนวนประมาณ 150 ล้านบาท

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ เดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 1.31 เท่าซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 2.5 เท่า

เนื่องจากหนี้สินทางการเงินส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นหนี้สินของบริษัทย่อยและเป็นหนี้เงินกู้โครงการซึ่งมีการโอนสิทธิ์รับเงินไปที่เจ้าหนี้โครงการ ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิ์เรียกร้องก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 50% ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทจึงมีโอกาสที่จะต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร 1 ขั้นซึ่งสะท้อนความเสี่ยงในเรื่องการด้อยสิทธิ์เชิงโครงสร้าง

สถานะเครดิตของผู้ค้ำประกัน อันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกสิกรไทยสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของธนาคารซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ รวมถึงการที่ธนาคารมีพอร์ตเงินให้กู้ยืมที่หลากหลาย มีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของธนาคารทั้งในด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากการที่ธนาคารมีลูกค้าในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นจำนวนมากซึ่งมีความเปราะบางต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-ในระหว่างปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทดังต่อไปนี้

-รายได้จะอยู่ระหว่าง 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี

-อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 3%-4%

-งบประมาณลงทุนจะอยู่ที่ประมาณทั้งสิ้น 150 ล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันในการประมูลงานโครงการต่อไปได้และจะยังรักษาระดับรายได้จากงานโครงการและมีอัตรากำไรที่สม่ำเสมอ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทปรับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงบริษัทสามารถปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความสามารถในการประมูลโครงการที่อ่อนแอลงหรือเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมที่ลดลงอย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ