CONSENSUS: โบรกฯเชียร์ ซื้อ BBL คาดกำไรปีนี้โตโดดเด่นจากคุมค่าใช้จ่าย-ตั้งสำรองหนี้ลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 6, 2021 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เชียร์ "ซื้อ" หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) เล็งผลกำไรปีนี้เติบโตโดดเด่น ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง ไม่มีค่าใช้จ่ายแบบ One-time แบบปีก่อน รวมไปถึงการคาดว่าค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้จะลดลง 22%YoY และการระบาดระลอกใหม่จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

ในส่วนของผลกำไรในไตรมาส 1/64 ดีกว่าที่คาดไว้ เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลดลง ประกอบกับมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงมีภาพของตลาดทุนที่ดี และ มีสัญญาณ NPL ที่ดีขึ้นเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องระวังผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่องและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจจะช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ในส่วนราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้อาจต้องรอเม็ดเงินต่างชาติกลับมาเอเชียและไทย

ราคาหุ้น BBL บ่ายวันนี้มาอยู่ที่ 118.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท(-0.42%) ขณะที่ SET +1.55%

          โบรกเกอร์                    คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เอเชียเวลท์                    ซื้อ                 170
          เคทีบีเอสที                     ซื้อ                 160
          โนมูระ พัฒนสิน                  ซื้อ                 155
          ทรีนีตี้                         ซื้อ                 151
          ยูโอบี เคย์เฮียน                 ซื้อ                 149
          ฟิลลิปฯ                        ซื้อ                 141

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำซื้อหุ้น BBL เพื่อลงทุนระยะยาว เนื่องมาจากไตรมาส 1/64 ทาง BBL มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลดลง หลังจากไตรมาส 4/63 มีค่าใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มเข้ามา ประกอบกับมีรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงมีภาพของตลาดทุนที่ดี และ มีสัญญาณ NPL ที่ดีขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกของหุ้นกลุ่มธนาคาร คือจะมีเงินในประเทศช่วยประคองอีกส่วนหนึ่ง จึงคาดว่าจะสามารถ Outperform ตลาดได้

ปัจจัยที่จะส่งผลให้ BBL สามารถ Outperform ได้ดีนั้น ยังคงต้องรอช่วงที่กระแส Fund Flow เข้าเอเชีย ซึ่งในไตรมาส 2/64 คาดหวังตัวเม็ดเงินต่างชาติค่อนข้างจะจำกัด เพราะประเทศไทยเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 มากขึ้น ช่วงปลายเดือนเม.ย.-พ.ค. อาจจะกลับมากังวลในเรื่อง Bond Yield อีกรอบหนึ่ง ทำให้เม็ดเงินต่างชาติที่จะไหลเข้าเอเชียและประเทศไทยอาจจะยังจำกัดอยู่

นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวคุณภาพสินทรัพย์ เพราะทำให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมไปถึงภาคครัวเรือนจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า BBL เป็นหุ้นที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่แพง เทรดเพียงแค่ 0.5 เท่าของ Book Value และปีนี้ประเมินว่าผลกำไรจะเติบโตอย่างโดดเด่นถึง 47% เพราะกลุ่มธนาคารได้ผ่านจุดวิกฤติไปแล้วในปี 63 และเริ่มกลับมาทยอยฟื้นตัวในปีนี้ รวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันกำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ สำหรับ BBL ถือว่ามีการตั้งสำรองสูงมาแล้วจะสามารถรองรับความเสี่ยงได้ดี

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองประเด็นเศรษฐกิจไทยที่อาจฟื้นช้ากว่าประเมินไว้ตอนต้น เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และอาจมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ลง เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ประกอบกับการกระจายวัคซีนล่าช้า จึงส่งผลกดดันในแง่ของรายได้จากต่างประเทศ และอาจทำให้การลงทุนต่าง ๆ ชะลอตัวลง

ด้าน บล.ทรีนีตี้ (TNITY) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินกำไรของ BBL ปีนี้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัว 45%YoY และกำไรในไตรมาส 1/64 ออกมาที่ 6,923 ล้านบาท แม้จะลดลง 10%YoY แต่ดีขึ้น 189%QoQ

กำไรในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัว 45%YoY เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง ไม่มีค่าใช้จ่ายแบบ One-time เหมือนปีก่อน และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่คาดว่าจะลดลงถึง 22%YoY เนื่องจากได้ตั้งสำรองส่วนเกินไว้ค่อนข้างมากในปีที่แล้ว ประกอบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากไม่ได้มีมาตรการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นแบบการแพร่ระบาดโควิด-19ระลอกแรก รวมไปถึงประเมินว่าลูกหนี้ของธนาคารไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมาก

ในส่วนของผลกำไรในไตรมาส 1/64 เป็นผลมาจาก 4 ปัจจัยสำคัญประกอบด้วย 1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิดีขึ้นราว 2%QoQ แม้สินเชื่อจะอ่อนลงเล็กน้อยแต่มีปัจจัยหนุนจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง 2) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลงเล็กน้อยราว 2%QoQ โดยกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนลดลงเล็กน้อย แต่รายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้นมากถึง 15%QoQ

3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลง 22%QoQ ตาม Seasonal ทำให้ Cost-to-income ratio อยู่ที่ 51% แม้จะยังเป็นระดับที่สูง แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 66% ค่อนข้างมาก และ 4) NPL ปรับตัวลงจาก 4% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 3.74% สะท้อนคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ยังอยู่ในระดับสูงที่ Credit Cost ราว 116 bps (แม้ว่าจะลดลงจาก 132 bps ในไตรมาสก่อน แต่ส่วนหนึ่งเป็นการตั้งสำรองส่วนเกิน) ทาให้ NPL coverage ratio แข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 178%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ