นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวดครึ่งแรกปี 64 ที่เหมาะสมกับสถานการณ์รายได้ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งแรกหลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันนี้เป็นวันแรก เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีแผนลงทุนโครงการใดๆ
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสำหรับงวดปีภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมายแล้ว
"ด้วยความที่เราเป็นหุ้นปันผล เราจะมีปันผลระหว่างกาลหลังปิดงบไตรมาส 2/64...เราชำระหนี้คืนแล้ว เราก็ไม่มีหนี้แล้ว รายได้หักค่าใช้จ่ายก็จะมีกระแสเงินสดมาจ่ายเงินปันผลได้"นายธานินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ แม้ในไตรมาส 1-2/64 จะเผชิญสถานการณ์การระบาดโควิด-19 แต่บริษัทคาดว่า ในไตรมาส 3-4/64 น่าจะดีขึ้นจากที่เห็นความหวังการกระจายฉีดวัคซีนในประเทศได้มากขึ้น ฉะนั้น ผลประกอบการในปี 64 น่าจะออกมาดีกว่าปี 63 และในปี 65 สถานการณ์น่าจะกลับมาเป็นปกติ
นายธานินทร์ กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมและมีศักยภาพทั้งด้านบุคคลากรที่มีประสบการณ์บริหารทางด่วนมากว่า 30 ปี และมีความพร้อมด้านเงินทุน มีโอกาสขยายงานด้วยการเข้าร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (60-79) โดยภาพรวมในปีนี้ถึงปีหน้าจะมี 3-4 โครงการ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ (M8) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนในแต่ละโครงการ ขึ้นอยู่กับทีโออาร์ที่จะเป็นตัวกำหนดการ แต่บริษัทมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost หรือ PPP Gross Cost ซึ่งบริษัทมีประสบการณ์แล้ว โดยในขณะนี้บริษัทจะเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ทั้งเรื่องบุคลากรและเงินลงทุน
นอกจากนี้ บริษัทก็ยังมองหาโอกาสลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับทางด่วน ได้แก่ ที่พักริมทาง เพราะอนาคต กรมทางหลวงซึ่งดูแลมอเตอร์เวย์จะมีการประมูลที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ สำหรับพันธมิตรที่จะเข้ามาเสริมบริษัทเปิดกว้าง นอกเหนือจากที่บริษัทมีพันธมิตร คือ บริษัท เครือเจริญโภคภัทฑ์ จำกัด (ซีพี) และ บริษัท ไทยรุ่งเรือง - เคอรี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และเป็นพันธมิตร ที่อนาคตบริษัทสนใจเป็น Strategic Partner ในโครงการใหม่ๆ
ทั้งนี้ DMT ได้รับสัมปทานจากทางหลวงในการก่อสร้างและให้บริการโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ทางยกระดับดอนเมือง ภายใต้สัญญาสัมปทานทางหลวงในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต รวมระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงแรก ทางหลวงสัมปทานส่วนเดิม ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร และช่วงที่สอง ทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศเหนือ ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร