หุ้น DMT ปิดเทรดวันแรกที่ 15.90 บาท ลดลง 0.10 บาท (-0.62%) จากราคาขาย IPO ที่ 16 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 7,335.85 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 17.60 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 18.80 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 15.90 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯมองว่าราคา IPO ชองบมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) อยู่ในระดับที่สูงแล้ว เนื่องจากคาดรายได้สำหรับปี 64 ยังคงทรงตัวจากปี 63 แม้จะมีการมาของวัคซีนซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่จากปริมาณการใช้บริการเฉลี่ยต่อวันในช่วงไตรมาส 1/64 ในสัมปทานเดิมช่วงดินแดง-ดอนเมือง ที่ 43,785 คันต่อวัน และส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ที่ 29,473 คันต่อวัน ลดลง YoY ที่ 37.77% และ 29.74% ตามลำดับ จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณจราจรลดลงกว่า 30% และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังไตรมาส 2/64 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3 รวมไปถึงรายได้ที่ลดลง เมื่อเทียบกับต้นทุนการให้บริการทางยกระดับซึ่งเป็นต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้น เป็นอีกปัจจัยกดดันอัตรากำไรของบริษัท
นอกจากนี้ ด้วยอายุของสัมปทานโครงการซึ่งจะหมดลงในปี 77 จะทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินงานต่อได้หากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทาน หรือลงทุนในโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม สำหรับปัจจัยเสี่ยงเชิงบวกประกอบด้วย การต่อสัญญาสัมปทาน, บริษัทสามารถลงทุนในโครงการใหม่ๆ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดประเทศที่เร็วขึ้น และการเพิ่มขึ้นของปริมาณการซื้อรถยนต์
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยการ บริหารโครงการสัมปทานทางหลวงลักษณะ Build-Operate-Transfer (BOT) ช่วงทางยกระดับดินแดง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทางรวมประมาณ 21.9 กิโลเมตร โดยมีรายได้หลักมาจากการใช้บริการทางยกระดับ ทั้งรถประเภท 4 ล้อ และมากกว่า 4 ล้อ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามการได้รับสัมปทานจากกรมทางหลวงคือ 1) ทางหลวงสัมปทานเดิม (Original Tollway) ช่วง ดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร ปัจจุบันมีอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถประเภทรถ 4 ล้อ อยู่ที่ 80 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ อยู่ที่ 110 บาท 2) ทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศเหนือ (Northern Extension) ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร มีอัตราค่าผ่านทางในปัจจุบันสำหรับรถ 4 ล้อ อยู่ที่ 35 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ อยู่ที่ 45 บาท
โครงการในอนาคตของบริษัท ในขณะนี้บริษัทยังคงอยู่ระหว่างการมองหาการลงทุนของโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมการประมูลโครงการทางหลวงพิเศษ หรือทางพิเศษ ที่ กรมทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในอนาคต รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับเข้าประมูลสัมปทานโครงการปัจจุบันภายหลังสัญญาสัมปทานปัจจุบันสิ้นสุดลง เพื่อดำเนินการโครงการต่อไปในอนาคต