ฟิทช์ คงอันดับเครดิตสากลTTB ที่ BBB- แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 7, 2021 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) (เดิมคือ ธนาคารทหารไทย) ที่ ?BBB-? และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ?F3?

นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นยังได้รับการคงอันดับที่ ?AA-(tha)?และ ?F1+(tha)? ตามลำดับ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันเครดิตภายในประเทศของ TTB

มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (หรือ Viability Rating) นอกจากนี้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารยังอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้น ต่ำ (Support Rating Floor) ซึ่งช่วยจำกัดความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารในกรณีที่ความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารปรับตัวต่ำลง โดยที่ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำไม่ได้มีการปรับตัวลดลง

นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ TTB ยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร

  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร (company profile)ที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นมาในระดับหนึ่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศ (franchise) ที่แข็งแกร่งขึ้นและการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เมื่อเดือนธันวาคม 2563

แต่อย่างไรก็ตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีความต่อเนื่องของความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจมีอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงมีความท้าทายและผลกระทบของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ผลกระทบจากจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสได้ถูกลดทอนลงจากมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐในขณะที่อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TTB ยังคงมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวด้อยลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์รวมทั้งรายได้และอัตรากำไร อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตของ TTB ยังสามารถรองรับแรงกดดันได้ในระดับหนึ่ง ณ ระดับคะแนนของปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตในปัจจุบัน (ตามการประมาณการณ์ของฟิทช์ในกรณีฐานและกรณีที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น (downside scenario))

นอกจากนี้ฟิทช์ยังคาดว่าโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงจากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจนั้นได้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กิจกรรมในภาคธุรกิจน่าจะมีการเติบโตดีขึ้นในปี 2564 จากระดับฐานที่ค่อนข้างต่ำในปี 2563 ซึ่งเป็นผลให้ฟิทช์ปรับแนวโน้มของคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับเครดิตของ TTB ในด้านคุณภาพสินทรัพย์

ด้านรายได้และอัตรากำไร และด้านเงินกองทุนและระดับหนี้สิน เป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิม แนวโน้มเป็นลบ

คุณภาพสินทรัพย์ของ TTB น่าจะยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องในปี 2564-2565 หลังจากที่มาตรการผ่อนปรนเริ่มจะหมดอายุลง ดังนั้นฟิทช์คาดว่าต้นทุนเครดิต (credit costs) น่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอาจจะปรับตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงปี 2562-2563 ที่มีต้นทุนเครดิตในระดับที่สูง (มากกว่า 50% และ 60% ของกำไรก่อนหักต้นทุนเครดิตในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ)

แนวโน้มของต้นทุนเครดิตจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่ออัตรากำไรของธนาคารในช่วง 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และเป้าสินเชื่อของธนาคารที่น่าจะอยู่ในระดับต่ำ แม้หลังการควบรวมกิจการและผสานดำเนินงาน (integration) จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม2564

ฐานะเงินกองทุนและการระดมทุนยังคงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนอันดับเครดิตของธนาคาร อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น (14.5% ณ สิ้นปี 2563 จาก 13.6% ณ สิ้นปี 2562) ซึ่งช่วยรองรับความเสี่ยงได้ดีขึ้น นอกจากนี้การระดมทุนและสภาพคล่อง (funding and liquidity) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับค่อนข้างดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ 102% ณ สิ้นปี 2563 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม (ปี 2563:92%) แต่มีปัจจัยชดเชยจากการที่ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์สภาพคล่องที่มีความรุนแรง (หรือ LCR ratio) ในระดับที่ค่อนข้างดีที่ 179% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

  • อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TTB พิจารณาจากการที่ธนาคารมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ในฐานะที่ธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่ประมาณ 9% ณ สิ้นปี 2563 ทั้งนี้ TTB ยังเป็นธนาคารที่มีขนาดเล็กว่าธนาคารขนาดใหญ่ของไทยที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่ประมาณ 15%-18% อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ TTB ในกรณีที่มีความจำเป็น

  • หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ TTB อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร (ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง) และเป็นอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ด้อยสิทธิอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีพื้นฐานตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน (recovery rate) ในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน

สำหรับเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) คือเมื่อธนาคารกลางหรือทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับลดอันดับเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น สิทธิในการยกเว้นหรือการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

  • การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินหรืออันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำอาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน
  • การเปลี่ยนมุมมองของฟิทช์ต่อโครงสร้างเครดิตของ TTB เมื่อเทียบธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอาจได้รับผลกระทบเชิงบวก หากฟิทช์เห็นว่าโครงสร้างธุรกิจและฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวดีขึ้นมาใกล้เคียงมากขึ้นกับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า
  • ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
  • การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับเพิ่มอันดับ หากฟิทช์เห็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเครือข่ายธุรกิจในประเทศของ TTB ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นและมีโครงสร้างธุรกิจที่ดีขึ้น และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารในประเทศรายอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า

ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ธนาคารสามารถรักษาอัตราส่วนอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมให้ต่ำกว่า 2.7%(สิ้นปี 2563: 3.0%) อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 1.5% (สิ้นปี 2563:1.0%) และอัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ที่สูงกว่า 15.0% (สิ้นปี 2563: 14.5%)โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นในระยสั้นเนื่องจากอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมในการดำเนิน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดอันดับ หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TTB ปรับตัวแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ภายใต้สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอลงและต่อเนื่องและสถานะทางการตลาดของธนาคารไม่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อฐานะทางการเงินของธนาคารได้ ตัวอย่างเช่นในกรณีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่มากกว่า 6% และอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ต่ำกว่า 100% (ไตรมาส 1 ปี 2564: 122%) และการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ต่ำกว่า 1.0% ในช่วง 2 ปีข้างหน้าหรือมากกว่า

นอกจากนี้การที่ธนาคารไม่สามารถรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับเพียงพอกับความเสี่ยงที่เพี่มขึ้นซึ่งอาจบ่งชี้ได้จากอัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ที่ต่ำกว่า 13.0% อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

  • อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากฟิทช์ประเมินแล้วเห็นว่ารัฐบาลมีความสามารถหรือโอกาสที่จะให้การสนับสนุนแก่ TTB ในระดับที่สูงขึ้น การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถมากขึ้นที่จะให้การสนับสนุนแก่ TTB

อย่างไรก็ตามการพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำต้องคำนึงถึงการที่โอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิมหรือไม่ในกรณีที่อันดบเครดิตของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของโอกาสที่ TTB จะได้รับการสนับสนุนอาจบ่งชี้ได้จากการที่ธนาคารมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินเพิ่มขึ้น เช่นโดยการมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงขึ้นเข้ามาในระดับใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น อาจส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ และ/หรือ การได้รับการประกาศให้มีสถานะเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบของประเทศ (DSIB)

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำและอันดับเครดิตสนับสนุนของ TTB หากรัฐบาลมีความสามารถที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดได้จากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย นอกจากนี้อาจมีผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตดังกล่าวได้หากมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าโอกาสที่ TTB จะได้รับการสนับสนุนปรับตัวด้อยลง เช่น เนื่องจากการปรับตัวลดลงของระดับความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศหรือหากมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่มีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะปานกลางมีค่อนข้างน้อย

  • หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากสถานะทางเงินที่ปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินลงมาที่ต่ำกว่า ?bbb-? ซึ่งจะต่ำกว่าอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำจะส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของอันดับเครดิตอ้างอิงลดลงและส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ