ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 1 พันลบ.ของ DTC ที่ BBB- แนวโน้ม Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 10, 2021 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ดุสิตธานี (DTC) ที่ระดับ "BBB-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ"

ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB-" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกันยายน 2564 นี้

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันอย่างมากในระยะสั้นถึงปานกลางจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่มีต่อการดำเนินธุรกิจโรงแรมและภาระหนี้ของบริษัทที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการ "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" โดยคาดว่าหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 10 เท่าไปจนถึงปี 2567 ซึ่งหากการพัฒนาโครงการดังกล่าวดำเนินไปได้ตามแผนก็จะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากในปี 2568

ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคโควิด 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจโรงแรม ในปี 2563 รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของลดลงประมาณ 58% เมื่อเทียบกับปี 2562 บริษัทรายงานรายได้ลดลงที่ระดับ 47% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายติดลบ 414 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 จะยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันที่รุนแรงต่อไปเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่และความล่าช้าในการดำเนินการฉีดวัคซีนในประเทศไทยซึ่งอาจจะส่งผลให้แผนการเปิดประเทศโดยการผ่อนปรนการเดินทางต้องล่าช้าออกไป

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทอาจจะยังคงติดลบต่อไปอีกในปี 2564 อย่างไรก็ดี โครงการปรับแผนธุรกิจและความพยายามในการลดต้นทุนในหลาย ๆ ส่วนที่บริษัทดำเนินการอยู่นั้นน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากรายได้และกำไรที่ลดลงได้บางส่วน

ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากแหล่งและความต้องการใช้เงินทุนของบริษัท ทั้งนี้ แหล่งสภาพคล่องหลักของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งวงเงินสินเชื่อโครงการเพื่อใช้ดำเนินโครงการ "โรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์" และ "โรงแรมอาศัย สาทร" ที่เบิกใช้ได้ทันทีรวมทั้งสิ้นอีกจำนวน 725 ล้านบาท เงินสดที่ได้รับจากการขายหุ้นของ บริษัท สวนลุม พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2564 จำนวน 260 ล้านบาท เงินสดที่จะได้รับจากการขายหุ้นของ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) จำนวน 200 ล้านบาท เงินสดที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงสร้างศูนย์การค้าตามสัญญาการพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จำนวน 972 ล้านบาท และเงินที่จะได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้อีกจำนวน 1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนในหุ้นของ NRF คิดเป็นมูลค่า 568 ล้านบาท ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 อีกด้วย ในขณะที่ความจำเป็นในการใช้เงินทุนของบริษัทประกอบไปด้วยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนรวม 1.2 พันล้านบาท ภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานจำนวน 550-600 ล้านบาท และงบสำหรับแผนการลงทุนรวมอีกประมาณ 1.5-1.6 พันล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะบริหารจัดการและรักษาสถานะสภาพคล่องอย่างระมัดระวังและเพียงพอที่จะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากในการดำเนินงานไปได้

บริษัทมีข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญ คือการดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ไม่เกิน 1.75 เท่า ซึ่ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 1.44 เท่า ในกรณีที่อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งก็คาดหวังว่าบริษัทจะบริหารจัดการสถานะทางการเงินอย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่อยู่ในระดับสูงซึ่งจะยังคงส่งผลกดดันต่อผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทต่อไปอีกอย่างน้อยในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้และสถานะทางการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเปลี่ยนมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและบริษัทสามารถดำรงสถานะสภาพคล่องเอาไว้ได้อย่างเพียงพอที่จะรองรับภาวะผันผวนใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ