นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) (IRC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 3/64 (เม.ย.-มิ.ย.64) จะทำได้ใกล้เคียงกับงวดไตรมาส 2/64 (ม.ค.-มี.ค.64) ที่มีรายได้รวม 1,449.35 ล้านบาท เนื่องด้วยมีวันหยุดทำการค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ประกอบกับยังได้รับผลกระทบจากวิกฤติชิปขาดแคลน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในรถยนต์ ทำให้ค่ายรถยนต์บางค่ายไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ แต่คาดว่าปัญหาการขาดแคลนชิปน่าจะจบในปีนี้ ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ก็ยังคงเดินหน้าผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคัน โดยบริษัทก็มีออเดอร์เข้ามาครบหมดแล้ว จึงมั่นใจว่าจะสามารถรักษาระดับยอดขายเอาไว้ได้
ขณะที่ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/64 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ยังเชื่อว่าจะสามารถะเติบโตได้
ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนรายได้มาจากผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยางอุตสาหกรรม มากกว่า 50% แบ่งเป็น ชิ้นส่วนยานยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่ก็มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์ ราว 40%
นางพิมพ์ใจ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในภาพรวม บริษัท ตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตราว 8% เป็นไปตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ฟื้นตัว โดยทางผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่คาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้จะอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประมาณการยอดผลิตทั้งปี ในส่วนของรถยนต์ไว้ที่ 1.5 ล้านคัน เติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว 5.12% และรถจักรยานยนต์ 1.86 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 15.15%
โดยในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.64 มียอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 2.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาเป็น 465,833 คัน และยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เติบโต 7.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาเป็น 674,793 คัน
พร้อมกันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการระบาดโควิด-19 ที่นำมาซึ่งวิถีชีวิตแบบ New normal ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง เช่น พฤติกรรมเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะและหันมาใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการ Work From Home ที่ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าต่างๆ เกิดขึ้น ทำให้การใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์มีมากขึ้น ส่งผลที่ดีต่อภาพรวมของผลประกอบการของ IRC
บริษัทยังวางกลยุทธ์การดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์ ให้เหมาะสมกับกลุ่มตลาด เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลาย และยังร่วมพัฒนากับหุ้นส่วนทางด้านเทคโนโลยี เพื่อทำชิ้นส่วนรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ในอนาคต ทั้งสิ้นส่วนยางและยางรถจักรยานยนต์ รวมถึงยังมีแผนรองรับตลาดอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต เช่น การนำผลิตภัณฑ์ vi-Pafe ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยางปูพื้นอเนกประสงค์ มาวิจัยพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
อีกทั้งยังขยายธุรกิจเข้าไปสู่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น โครงการรถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น นวัตกรรมแผ่นยางรองราง ที่พัฒนาจากส่วนผสมของยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ที่ผลิตในประเทศ โดยเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง IRC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโล่ (วว.)
ทั้งนี้ IRC แจ้งผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก (ต.ค.63 -มี.ค.64) มีรายได้ 2,791.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.52% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น จากการผ่อนคลายของผลกระทบโควิด ทั้งด้านการบริการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆทั่วโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ส่งผลให้ตลาดส่งออกฟื้นตัว ตลอดจนมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐและการผ่อนคลายของภาคธุรกิจทางด้านการบริการและการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ด้านกำไรเติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว 58.93% มาเป็น 253.07 ล้านบาทในปีนี้ เนื่องจากประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน การใช้วัตถุดิบ และค่าใช้จ่าย
"IRC ถือว่าอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เช่นกัน แต่ IRC ได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยการตั้งใจดูแลและห่วงใยลูกค้ากลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อการขนส่ง เช่น กิจกรรม CSR IRC ร่วมช่วยสู้โควิดกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ขนส่ง โดยมอบเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย หมวกอนามัย รวมถึงการแจกคูปองส่วนลดเพื่อให้ได้สินค้าในราคาพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงโควิดระลอกแรก"นางพิมพ์ใจ กล่าว