เอเชียพลัส จับตาแผนกระจายวัคซีน-มาตรการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ชี้ทิศทางตลาดหุ้นไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 11, 2021 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยว่า แม้จะยังมีความกังวลกับยอดผู้ติดเชื้อ แต่หากการกระจายวัคซีนทั่วถึงมากขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมายอดผู้ติดเชื้อแตะนิวไฮที่ 2,800 คน แต่หลังจากนั้นก็ลดลงมาเรื่อย ๆ ประกอบกับ จำนวนผู้ที่รักษาหาย ล่าสุดเพิ่มขึ้น 1,603 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ที่กำลังรักษาอยู่มีแนวโน้มทรงตัวที่ 29,376 ราย จากสูงสุดที่ 30,222 ราย เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาและคาดว่าจำนวนผู้รักษาที่หายจะมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ น่าจะทำให้ช่วยลดปัญหาการให้บริการเชิงสาธารณสุขได้ในระดับหนึ่ง และการดูแลตัวเองตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของประชาชนน่าจะพอดูแลสถานการณ์ได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 2.6% โดยคาดว่าจะเห็นภาพการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นชัดเจนตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป เนื่องจากวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจะถูกส่งมอบในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะทำให้อัตราการฉีดวัคซีนพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในส่วนของช่วงก่อนเดือน มิ.ย.นั้นก็จะใช้วัคซีนซิโนแวกเป็นหลัก ซึ่งจะฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง และผู้สูงอายุ

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์การเติบโตของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 เป็น 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

1) กรณีจัดการได้ดีกว่าแผนเดิม : จัดหาและกระจายวัคซีน 100 ล้านโดสภายในปี 64 คาดการณ์ว่า GDP ปี 64 จะโตประมาณ 2% และจำนวนนักท่องเที่ยว 1.2 ล้านคน ส่วนในปี 65 GDP โต 4.7% และจำนวนนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน

2) กรณีจัดการได้ตามแผนเดิม : จัดหาและกระจายวัคซีน 64.6 ล้านโดสภายในปี 64 คาดการณ์ว่า GDP ปี 64 โต 1.5% และจำนวนนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน ส่วนปี 65 GDP โต 2.8% และจำนวนนักท่องเที่ยว 12 ล้านคน

3) กรณีจัดการได้ล่าช้ากว่าแผนเดิม : จัดหาและกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปี 64 คาดการณ์ว่า GDP ปี 64 โต 1% และจำนวนนักท่องเที่ยว 8 แสนคน ส่วนปี 65 GDP โต 1.1% และจำนวนนักท่องเที่ยว 8 ล้านคน

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังจะเจอ Downside ต่างจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่จะมี Upside เนื่องมาจากมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน โดยโครงสร้าง GDP จะมาจากการบริโภคของภาคครัวเรือนมากกว่าครึ่งหนึ่งราว 54% จากใช้จ่ายของภาครัฐอยู่ที่ 18% การลงทุนภาคเอกชน 17% การลงทุนภาครัฐ 7% การส่งออกสุทธิ 5%

ทั้งนี้ ขณะนี้โครงสร้าง GDP พึ่งพิงเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันถูกจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เกิด Downside ขึ้นมา ส่วนโครงสร้างของบริษัทจดทะเบียนจะเกี่ยวเนื่องกับสินค้า Community เพราะฉะนั้นหากราคาสินค้า Community ขยับขึ้นมาค่อนข้างสูง ก็จะทำให้กำไรของธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม Community วิ่งสวนขึ้นมาค่อนข้างดี

นายเทิดศักดิ์ คาดว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/64 รวมแล้วจะไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 91,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นมามากกว่า 1.2 เท่าตัว เห็นได้จากในปัจจุบันแม้ว่าจะประกาศผลประกอบการออกมาเพียงแค่ 35% ของตลาดเท่านั้น แต่ปรากฏว่ากำไรของ 35% นั้นอยู่ที่ 1.14 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่ากำไรทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนในช่วงเดียวกันของปีก่อน

และมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังคงมีความจำเป็น มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 2.46 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ระยะที่ 1 จำนวนเงิน 1.06 แสนล้านบาท และระยะที่ 2 จำนวนเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยมาตรการขับเคลื่อนในช่วงหลังเดือน มิ.ย. จะประกอบไปด้วย การเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 1.63 หมื่นล้านบาท การช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง วงเงิน 3 พันล้านบาท โครงการคนละครึ่งเฟส 3 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ วงเงิน 1.24 แสนล้านบาท ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.5% ของ GDP

"มาตรการที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก คาดว่าจะเป็นมาตรการช้อปดีมีคืนและช้อปช่วยชาติ ซึ่งภาษีที่รัฐสูญเสียไปนั้นน้อยมากหากเทียบกับตัวเลขวงเงินที่สะพัด ยกตัวอย่างในปี 63 ภาษีที่รัฐสูญเสียอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขวงเงินสะพัดอยู่ที่ 111,000 ล้านบาท คาดว่าภาครัฐน่าจะออกมาตรการรูปแบบนี้ออกมาอีก"นายเทิดศักดิ์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ในภาพรวมว่า ปัจจุบันในหลายประเทศเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น หลังจากผ่านจุดแย่ที่สุดมาแล้ว มีการลดมาตรการควบคุมต่าง ๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมามากขึ้น

ยกตัวอย่างในประเทศจีนมีภาพรวมการนำเข้า-ส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ยอดส่งออกเติบโต 32.3% YOY สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 24% และการนำเข้าอยู่ที่ 43.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 42% ซึ่งการนำเข้าของจีนที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตามไปด้วย

ขณะที่สหรัฐฯ เห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากอัตราการว่างงานที่ลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมในเดือน เม.ย. 63 มีอัตราการว่างงานที่ 14.8% แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 6.1% และอีกตัวชี้วัดคือเงินเฟ้อทั่วไปในสหรัฐฯ มีการขยายตัวสูงที่ 2.6% YoY แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด) ขยายตัวต่ำ 1.6% สะท้อนถึงอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ทั่วถึง

โดยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความกังวลว่าจะมีการปรับลดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น การลด QE หรือ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าทางสหรัฐฯยังไม่มีการปรับลดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในตอนนี้ เพราะถึงแม้ว่าอัตราการว่างงาน จะอยู่ที่ 6.1% ซึ่งถือว่าดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในระดับปกติ เพราะฉะนั้นยังต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง

แต่ในขณะเดียวกันบางประเทศก็เริ่มส่งสัญญาณปรับลดนโยบายนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายออกมา เช่น ธนาคารกลางของแคนาดา และธนาคารกลางของอังกฤษ ส่งผลให้ในตลาดหุ้นหรือตลาดหุ้นภูมิภาควันนี้ถูกกดดันและปรับลงมา เพราะกังวลว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับขึ้นมา นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแบบเต็มสูบจะลดลง ส่งผลให้เงินที่จะเข้ามาอัดฉีดตลาดหุ้นก็จะเบาลงไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ