นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ (NDR) เปิดเผยว่า บริษัทเข้าซื้อหุ้นในบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด (ETRAN) ในสัดส่วน 35% มูลค่ารวม 60.20 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) แทนการชำระด้วยเงินสด จำนวนไม่เกิน 31.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ราคาหุ้นละ 2.72 บาท คิดเป็นมูลค่า 60.20 ล้านบาท (Share Swap) อัตราแลกเปลี่ยนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นใหม่ของ ETRAN ต่อ 140.52 หุ้นใหม่ของบริษัท
ETRAN ประกอบธุรกิจออกแบบพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ "อีทราน" ซึ่งจะเริ่มเห็นรายได้เข้ามาในช่วงปลายปี 64 และจะทรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 65 โดยตั้งเป้ายอดขาย 500 คัน/เดือน หรือสร้างรายได้ราวปีละ 300-500 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท ในปี 65 ด้วยกลยุทธ์การบุกกลุ่มลูกค้า 3 กลุ่มหลัก คือ รถจักรยานยนต์รับจ้างต่างๆ ผู้รักในการขับขี่รถจักรยานยนต์ และหน่วยงานภาครัฐ
นอกจากนี้ การลงทุนใน ETRAN จะทำให้ NDR เข้าไปสู่อุตสาหกรรมที่มีขนาดตลาดใหญ่ขึ้น ต่อยอดจากธุรกิจเดิม เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวสูงมาก ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนให้ผลดำเนินการของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดดได้ในอนาคต จากช่วงนี้ที่เป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของ Growth Cycle
"ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทรนด์ EV กำลังเป็นที่นิยมจึงเห็นถึงโอกาส ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เริ่มให้ความสนใจทำการศึกษาหาข้อมูลของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน พบว่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดในตลาดเป็นรถนำเข้าสามารถวิ่งได้ประมาณ 30-50 กิโลเมตรต่อการชาร์จ และทำความเร็วได้ประมาณ 50-60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้ใช้
ขณะที่ แบรนด์ ETRAN เป็นการพัฒนาและคิดค้นโดยคนไทย 100% โดยจุดเด่น คือ รถสามารถทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และใช้งานได้ประมาณ 180 กิโลเมตรต่อการชาร์จ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สามารถใช้งานแทนรถน้ำมันได้จริง จึงมั่นใจว่าแบรนด์รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าของ ETRAN จะสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี และจะเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดตื่นตัวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ที่มีปัญหา PM2.5 ถ้ารถทุกคันเป็นรถไฟฟ้าเราจะช่วยลดปัญหามลภาวะลงไปได้อย่างมหาศาล" นายชัยสิทธิ์ กล่าว
นายสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ETRAN เปิดเผยว่า ในปีนี้ ETRAN อีทรานวางแผนจะเปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด จำนวน 2 รุ่น คือ รุ่น KRAF สำหรับทำตลาดในกลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซด์ทั่วไป และรุ่นที่ 2 MYRA จับกลุ่มไรเดอร์เดลิเวอรี่ โดยจะมีการขยายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือ ETRAN Power Station จำนวน 100 สถานี ในเขตกรุงเทพมหานคร ใน 3 ปี เพื่อรองรับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์
นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาเทคโนโลยีรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ เทคโนโลยีมอเตอร์และแบตเตอรี่สมรรถนะสูง เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และเทคโนโลยีการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยวางเป้าหมายมียอดขายไม่ต่ำกว่า 50% ของตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารวม ภายในปี 68 ด้วยยอดขาย กว่า 100,000 คัน และอีทรานมีเป้าหมายเปลี่ยนวงการรถมอเตอร์ไซค์สู่พลังงานสะอาด ด้วยการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ตระหนักถึงการมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ ด้วยการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งไม่สร้างมลพิษทางอากาศและมลพิษเสียงเพื่อโลกที่ดีกว่า
ด้านนายอาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ETRAN เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังมีความพยายามพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กับภาคนโยบาย (Policy) เพื่อผลักดัน EV ในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ตลาด EV ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและเตรียมพร้อมรับโอกาสจากแนวโน้มตลาด EV ที่จะเติบโต อีทรานได้วางแผนปรับองค์กร ก้าวจากสตาร์ทอัพสู่องค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ ด้วยการวางแผนพัฒนาองค์กรและสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการ การเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
นายชัยสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังศึกษาการผลักดันให้ ETRAN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ภายในปี 67 เพื่อที่จะให้มีความน่าเชื่อถือและมีศักยภาพการเติบโตในอนาคตเพิ่มเติม
ส่วนผลประกอบการขง NDR ในปีนี้นั้น นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจกำไรสุทธิปีนี้จะมากกว่าปีก่อนที่ทำได้ 45.26 ล้านบาท ในทิศทางเดียวกับรายได้ที่บริษัทตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 778.87 ล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังคงแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการปิดชายแดน และปิดประเทศทั้งหมดเหมือนกับปีก่อน โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากในประเทศ 40% และสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 60%
สำหรับสถานการณ์ราคาวัตถุดิบหลัก คือยางพารา มีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอัตรากำไรสุทธิบ้าง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีการปรับราคาขายให้สะท้อนกับราคาวัตถุดิบได้อย่างเหมาะสม และบริษัทจะเน้นการใช้กลยุทธ์การซื้อวัตถุดิบที่เพียงพอต่อความต้องการ ไม่เก็บสต๊อกไว้มากนัก เนื่องจากยังเห็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ทั่วโลกแม้ว่าจะน้อยลงก็ตาม จึงมองว่าราคาวัตถุดิบอาจจะไม่ใช่ขาขึ้นอย่างแท้จริง หากเก็บสต๊อกวัตถุดิบไว้มากๆอาจจะเป็นผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในอนาคต
"ปีนี้แม้ว่าอัตรากำไรสุทธิจะลดลงบ้างจากผลกระทบของราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่เรายังมั่นใจว่ากำไรสุทธิจะสูงขึ้นแน่นอน เพราะยอดขายเรายังคงเติบโตได้ ซึ่งเรายังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งเราก็ดูแลสายการผลิตอย่างเต็มที่ เข้มงวดกับการดูแลพนักงานเพื่อที่จะให้เดินเครื่องการผลิตได้อย่างต่อเนื่องด้วย"นายชัยสิทธิ์ กล่าว