FSMART คาด Q2/64 ยอดเติมเงินใกล้ Q1/64 ก่อนโตกระโดด H2/64 จากจับมือพันธมิตร-ออกสินค้าใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 17, 2021 20:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) คาดว่า ไตรมาส 2/64 ยอดเติมเงินจะใกล้เคียงไตรมาส 1/64 เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 อย่างไรก็ตาม น่าจะเห็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดในครึ่งปีหลัง เนื่องจากไตรมาส 3/64 บริษัทมีแผนจับมือกับพันธมิตรรายใหม่ รวมถึงมีแผนการออกสินค้าใหม่

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดเติมเงินของปี 64 อยู่ที่ 135,000 ล้านบาท หรือเติบโต 15-20% จากปี 63

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปี 64 บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 500 ล้านบาท ในการวางแผนการตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเดิมที่ใช้บริการเติมเงินมือถือกว่า 90% จากลูกค้าทั้งหมด 20 ล้านคน หันมาใช้บริการที่มีความความหลากหลาย เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ประกอบกับการวางแผนเพิ่มบริการถอนเงิน และเพิ่มความร่วมมือกับธนาคารอีก 1-2 แห่ง รวมทั้งเพิ่มฐานลูกค้าเพื่อรองรับ CLMV ให้มากขึ้นด้วย

บริษัทแบ่งแผนการดำเนินธุรกิจปีนี้ออกเป็น 3 ธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจเดิมของตู้บุญเติม คือ บริการเติมเงิน และรับชำระเงินที่ยังเน้นการบริหารพื้นที่ และบริหารตู้ทุกตู้ให้สามารถทำกำไรได้ โดยการย้ายตู้ที่มีผู้ใช้บริการน้อยไปยังทำเลใหม่ ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มบริการใหม่ๆ ผ่านตู้ เช่น การขายประกัน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเพิ่มบริการการต่อ พ.ร.บ.ทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ คาดว่าจะดำเนินการในไตรมาส 3/64 นี้

นอกจากนั้น จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้เห็นการเติบโตของการใช้บริการแพ็กเกจอินเตอร์เน็ตมากขึ้น จากการ Work From Home และ Learn From Home รวมถึงบริการ E-Wallet ด้วย

2.ธุรกิจตัวแทนธนาคาร ทั้งการทำเรื่องฝากเงิน โอนเงิน และให้บริการสินเชื่อ

3.ธุรกิจใหม่คือการเข้าถือหุ้นกว่า 19.34% ในการขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติผ่านแบรนด์ "เต่าบิน" คือตู้ชงเครื่องดื่มแบบสดกว่า 100 เมนู โดยมีการเพิ่มฟีเจอร์ให้สามารถใช้บริการเหมือนตู้บุญเติมด้วย ทั้งนี้มีการติดตั้งตู้ "เต่าบิน" ให้บริการแล้วกว่า 20 จุด ส่วนใหญ่อยู่ในคอนโดและโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้สามารถสร้างยอดขายต่อเดือนที่ 45,000-50,000 บาท มียอดขายต่อวันประมาณ 50 แก้ว

ทั้งนี้ ในปี 64 บริษัทตั้งเป้าติดตั้งตู้ "เต่าบิน" ให้ถึง 5,000 จุด และวางเป้าหมายอีก 3 ปี หรือในปี 67 ให้สามารถติดตั้งได้ทั้งหมด 20,000 จุด ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ต่อปีที่ 6-7 พันล้านบาท ส่วนเครื่องดื่มผสมกัญชง ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ด้าน EV Charger ปัจจุบันสามารถติดตั้งตามคอนโดได้แล้วกว่า 10 ตัว คาดว่าจะเห็นการเติบโตที่มากขึ้นในอนาคต

นายกันย์ โรจนกุศล นักลงทุนสัมพันธ์ FSMART กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บริษัทยังสามารถทำกำไรในไตรมาส 1/64 ได้ที่ 111 ล้านบาท และทำรายได้ที่ 707 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของบริการฝากเงิน และบริการ Cash Card & E-Wallet ของตู้บุญเติม โดยรายได้ของบริษัทมาจาก 2 ช่องทาง คือค่าคอมมิชชั่นจากผู้ให้บริการ และค่า Operators Service Charge

ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 1/64 บริษัทมีรายได้ 707 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/63 ราว 3.3% จากสัดส่วนการเติมเงินที่ลดน้อยลง ด้านกำไรขั้นต้น (Gross Profit) อยู่ที่ 140 ล้านบาท ลดลงราว 3.4% จากไตรมาส 1/63 ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 111 ล้านบาท ลดลง 12% จากไตรมาส 1/63

ในไตรมาส 1/64 ยอดการเติมเงินตู้บุญเติมอยู่ที่ 9,627 ล้านบาท ส่วนธุรกิจตัวแทนธนาคารมีการเติบโตแบบนิวไฮในทุกๆ ไตรมาส โดยวางเป้าหมายจะเติบโตในปี 64 กว่า 30% ส่วนจำนวนรายการอยู่ที่ 2,064,715 รายการ ด้านตลาดการเติมเงินมือถือ ยอดเติมเงินต่อไตรมาสมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 1/64 สัดส่วนผ่านช่องทางออนไลน์มีมากขึ้นเป็น 70% และยังคงรักษาระดับการเติมเงินผ่านตู้ที่ 20% เนื่องจากยังคงมีฐานลูกค้าที่ใช้เงินสดอยู่

ด้านการเติมเงิน Wallet การซื้อรหัสบัตรในไตรมาส 1/64 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ถึง 97.8%

ทั้งนี้ ปัจจุบันตู้เติมเงินบุญเติมมีส่วนแบ่งการตลาดให้การให้บริการ 57% อีก 43% เป็นของรายอื่น ซึ่งถือว่ายังคงเป็นการครองสัดส่วนตลาดที่มากที่สุดในประเทศ และยังคงเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ