"ทริส"จัดเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่พร้อมทบทวนเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดเดิมKK

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 5, 2007 08:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของ ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) ที่ระดับ “A-" พร้อมยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของธนาคารในระดับเดิมที่ “A-"  ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" 
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานภาพการเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยที่ได้รับการยอมรับ คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และความสามารถในการทำกำไร ธนาคารมีความสามารถในการขยายฐานธุรกิจเพื่อทดแทนธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ลดขนาดลงเรื่อยๆ โดยจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตของสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ธนาคารมีเงินทุนสำรองในระดับที่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยแวดล้อมในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากปัญหาคุณภาพสินเชื่อสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นในระดับสูง และจากที่ธนาคารดำรงสถานภาพเป็นธนาคารขนาดเล็กซึ่งมีเครือข่ายสาขาที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมธนาคารเพื่อรายย่อย ประกอบกับการมีฐานลูกค้าในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้นอาจส่งผลให้ธนาคารมีความอ่อนไหวต่อการขยายธุรกิจและการทำกำไรในอนาคต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับการทำกำไรภายใต้ภาวะแวดล้อมที่ผันผวนของธุรกิจการเงินและการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่อไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับธนาคารน่าจะมีความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นในอนาคตจากการที่ธนาคารมีนโยบายจะขยายธุรกิจสู่ฐานลูกค้าที่มีประวัติคุณภาพสินทรัพย์ในระดับดีเท่านั้น แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่ธนาคารมีกองทุนที่เพียงพอจะรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลดมูลค่าสินทรัพย์จากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน อย่างไรก็ตาม หากคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อแนวโน้มหรืออันดับเครดิตของธนาคารได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่าธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขายของธนาคารเกียรตินาคินจะทยอยลดขนาดลงจนหมดภายใน 3- 8 ปีข้างหน้า ผู้บริหารของธนาคารจึงได้หันมาเน้นการเพิ่มสินทรัพย์โดยดำเนินธุรกิจให้กู้ยืมที่ให้ผลตอบแทนสูง อาทิ สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2550 ธนาคารมีสัดส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อในระดับ 60% ของสินเชื่อทั้งหมด หรือ 43% ของสินทรัพย์รวม และมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วน 23% ของสินเชื่อรวม หรือ 21% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ธุรกิจหลักทั้ง 3 ประเภทของธนาคาร (การลงทุนและการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์) ช่วยสร้างรายได้และคงอัตราผลตอบแทนในระดับสูงให้แก่ธนาคาร
ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน (ชั้นปกติ ชั้นสงสัย และชั้นสงสัยจะสูญ) ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากระดับ 14.5% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 เป็น 14.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับ 9.4% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 14 แห่ง สินทรัพย์ของธนาคารได้รับผลกระทบจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงมากถึง 67% ของฐานสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด (5 พันล้านบาทจากทั้งหมด 8 พันล้านบาทเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2550)
จากผลของการเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อยจากวิธีส่วนได้เสียเป็นวิธีราคาทุนซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ทำให้ธนาคารมีอัตราสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 1 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคาร ซึ่งสูงกว่าระดับ 0.8 เท่า ณ สิ้นปี 2549 นอกจากนี้ การเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีดังกล่าวยังส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงจาก 22.21% ในปี 2549 เป็น 17.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การที่ธนาคารมีนโยบายปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อผลตอบแทนที่สูง โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์นั้น ธนาคารมีความจำเป็นที่จะต้องดำรงเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้สูงเพียงพอที่จะบรรเทาความเสี่ยงที่อาจจะเผชิญในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ