PTTGC ชง ผถห.ลดถือหุ้น GPSC หันเน้นเคมิคอล,คาดเทนเดอร์ฯ VNT ใน Q4/64

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 19, 2021 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิตศักดิ์ สุนทรพันธุ์ ผู้จัดการฝ่าย การเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ พิจารณาอนุมัติการปรับโครงสร้างธุรกิจ ด้วยการลดสัดส่วนหุ้นใน บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เหลือ 10% จากปัจจุบัน 22.73% โดยจะขายหุ้นให้กับ บมจ.ปตท. (PTT)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับ Portfolio และไปมุ่งเน้นการลงทุนที่เป็นเคมิคอลมากขึ้น หรือลดสัดส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักลง (Non-core business) เพื่อเพิ่ม Value Chain ให้ครอบคลุมจากต้นน้ำไปสู้ปลายน้ำได้มากขึ้น รวมถึงมีการลงทุนในธุรกิจ High Value Business หรือ Performance Chemical มากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เฉพาะ มีกลุ่มเป้าหมายที่ดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาภาพการปรับตัวขึ้น ปรับตัวลงของปิโตรเคมีในธุรกิจเหล่านี้ จะมีความมั่นคงในด้านของมาร์จิ้นค่อนข้างสูง ทำให้มองว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการปรับ Portfolio และเพิ่มการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนธุรกิจ Performance Chemical อยู่ที่ 10% และอีก 90% เป็น Green Chemical โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน Performance Chemical เป็น 25% ในปี 73 เพื่อให้สามารถรักษาระดับการทำกำไรในช่วง Cycle ของธุรกิจและเติบโตในระยะยาว

สำหรับความคืบหน้าการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บมจ.วีนิไทย (VNT) (โดยไม่รวมหุ้นสามัญของ VNT ที่บริษัทฯ ถืออยู่) เป็นจำนวน 889,154,755 หุ้น หรือคิดเป็น 75.02% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของ VNT เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของ VNT จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 39 บาท ขณะนี้ผู้ถือหุ้นของ VNT ได้มีการอนุมัติในการดำเนินการดังกล่าวแล้ว และก็อยู่ระหว่างขออนุมัติภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้ในไตรมาส 4/64 ใช้เงินทั้งหมดกว่า 7,000 ล้านบาท

หากบริษัทสามารถเข้าไปถือหุ้นเพิ่มเติมใน VNT ได้ตามแผน ก็จะทำให้สามารถบูรณาการธุรกิจ PVC ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และจะช่วยให้ VNT กลายเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงความร่วมมือต่างๆ ในอนาคตกับผู้ถือหุ้นหลัก คือ กลุ่ม AGC จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นผู้เล่นรายหลักในเอเชียในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ก็มองเป็นโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจด้วย

ด้านความคืบหน้าในการลงทุน โรงโอเลฟินส์แห่งใหม่ โดยใช้แนฟทาและก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นวัตถุดิบหลัก กำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี จะส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งโอเลฟินส์ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจาก 2,988,000 ตันต่อปี เป็น 3,738,000 ตันต่อปี คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนพ.ค.นี้

นอกจากนี้โครงการพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด เพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ประเภท High Heat Resistant Polyamide-9T (PA9T) คาดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 65


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ