โบรกเกอร์ต่างแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) หลัง Valuation ค่อนข้างต่ำ พร้อมเล็งสถานการณ์โการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะดีขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/64 เป็นต้นไป น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจบิ๊กซี (BIGC) ให้ปรับตัวดีขึ้น
แม้ไตรมาส 2/64 ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ อาจเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น แต่แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นฟื้นตัวจากการปรับปรุงคุณภาพสินค้าอาหารสด และเน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำไรดี
นอกจากนี้ มองว่ายอดขายของ BJC ยังมีการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ได้ผลบวกจากกระแส Sustainable packaging และการเปลี่ยนจากการใช้กระป๋องเหล็กมาเป็นอลูมิเนียม อีกทั้งมีการผลิตกระป๋องขนาดใหม่ และการเติบโตของ Functional drink
หุ้น BJC ปิดเช้าที่ 34.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท (+0.73%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าพุ่ง 0.74%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 47.00 เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ซื้อ 44.00 คันที่ กรุ๊ป ซื้อ 43.00 คิงส์ฟอร์ด ซื้อสะสม 42.00 กสิกรไทย ซื้อ 39.00 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อเก็งกำไร 37.00
น.ส.ธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า Valuation ของ BJC ได้สะท้อนภาพแรงกดดันการบริโภคภายในประเทศในช่วงสั้นพอสมควร และอยู่ในโซนค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันก็คาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบิ๊กซี (BIGC) ในระยะถัดไป
ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 มองว่ายังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับภาพรวมการบริโภค โดยคาดว่าตัวเลขยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) เดือน เม.ย.64 จะติดลบอยู่ในกรอบราว -1% ถึง -3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าปีก่อนจะฐานต่ำแล้วก็ตาม ขณะที่ในเดือน พ.ค.นี้ มีแนวโน้มปรับตัวลงมากขึ้น เนื่องจากครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ค.63 มีการคลายล็อกดาวน์บ้างแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าบางส่วนที่ต้องปิดไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ ทำให้บิ๊กซีมีความจำเป็นที่จะต้องให้ส่วนลดค่าเช่ากับผู้เช่าบางราย เพื่อรักษาระดับอัตราการเช่า ส่วนธุรกิจอื่นๆ ภาพรวมไม่ได้รับผลกระทบมากเมื่อเทียบกับ BIGC แต่ก็เริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นของเยื่อกระดาษและน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าในกลุ่มสบู่ ขนมขบเคี้ยว หรือกระดาษ ปรับตัวขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นแรงกดดันต่ออัตรากำไรขั้นต้นในช่วงไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะมาช่วยลดทอนผลกระทบ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพ การปรับปรุงคุณภาพสินค้าอาหารสดของ BIGC และการควบคุมใช้จ่ายด้าน SG&A ในช่วงก่อนหน้า
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดว่า กำไรไตรมาส 2/64 ของ BJC จะกลับมาเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากยอดขายขวดแก้วเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเครื่องดื่ม (non-alcohol) และกลุ่มอาหาร ส่งออกได้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดในต่างประเทศคลี่คลายลง
ขณะที่ยอดขายกระป๋องอลูมิเนียมจะฟื้นตัว เนื่องจากลูกค้าที่ส่งออกสินค้าไปเมียนมากลับมาส่งสินค้าไปได้มากขึ้นกว่าไตรมาสแรกที่มีปัญหาด้าน Supply chain และระบบธนาคาร อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการควบคุมต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ส่วนกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีจากการขายเครื่องเอ็กซ์เรย์ และมีการส่งมอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่
สำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2/64 ยังถูกกดดันจากการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว และต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น แต่การควบคุมต้นทุนได้ดีช่วยลดผลกระทบได้ส่วนหนึ่ง ส่วนยอดขายของ BIGC ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/64 จนถึงปัจจุบันยังลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากผลกระทบของโควิด แต่แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นฟื้นตัวจากการปรับปรุงคุณภาพสินค้าอาหารสด และเน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำไรดี ขณะที่รายได้ค่าเช่าคาดว่าจะยังลดลงจากการให้ส่วนลดค่าเช่า 10% ส่วนการกลับเข้าไปซื้อ MM Mega Market Vietnam ยังอยู่ในแผน แต่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลา
BJC ยังคงตั้งเป้ายอดขายปีนี้เพิ่มขึ้น 1-7% จากการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์ได้ผลบวกจากกระแส Sustainable packaging และการเปลี่ยนจากการใช้กระป๋องเหล็กมาเป็นอลูมิเนียม อีกทั้งมีการผลิตกระป๋องขนาดใหม่ และการเติบโตของ Functional drink ส่วนเป้าหมายอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50 bps จากกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์และสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าใช้จ่ายยังควบคุมได้ดี อีกทั้งค่าใช้จ่ายพนักงานลดลงหลังปรับโครงสร้างองค์กรเมื่อกลางปีก่อน
ส่วนบล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า สถานการณ์โควิดน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 3/64 เป็นต้นไป หลังทยอยฉีดวัคซีนแล้ว โดยขณะนี้ภาครัฐทยอยนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนแล้ว และจะนำเข้ามาฉีดต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าผู้ได้รับการฉีดวัคซีนในสิ้นปีนี้ราว 70% ของประชากรทั้งหมด และพร้อมเปิดประเทศต้นปีหน้า จึงคาดว่าคนไทยจะทยอยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ภายในครึ่งปีหลังนี้
พร้อมกันนี้จะส่งผลให้ธุรกิจของ BJC ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ และน่าจะดีขึ้นชัดเจน หลังเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยได้ คาดว่าจะเกิดในต้นปีหน้า และจะช่วยให้ธุรกิจของ BIGC พลิกฟื้นอย่างชัดเจน เพราะ BIGC มีหลายสาขาที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักเข้ามาใช้บริการ อาทิ ราชดำริ หัวหิน พัทยา และเชียงใหม่
ขณะที่คาดกำไรสุทธิปี 64 ยังเติบโต 19% และฟื้นตัวชัดเจนราว 30% ในปี 65